CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี สร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave พาศิลปินไทยดังไกลระดับโลก ผ่านโครงการ Music Exchange ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย
อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 28.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.6 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 10.2 ในขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีของไทยพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 108 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ หรือราว 3.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อนหน้า ที่น่าสนใจคือกระแส T-Pop ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยมีศิลปินคนไทยรุ่นใหม่หลายคนสร้างชื่อเสียงในตลาดสากล เช่น ลิซ่า Blackpink/LLoud แบมแบม GOT7 ที่มีแฟนคลับทั่วโลกและเอเชีย วง 4EVE ที่กำลังสร้างกระแสในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงบิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, เจฟ ซาเตอร์, KIKI ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีภูมิ วิภูริศ ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวไทย ที่สื่อระดับโลกอย่าง Rolling Stone ยกให้เป็นศิลปินน่าจับตามอง จนได้รับความสนใจจากเวทีดนตรีระดับโลกมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในศิลปินไทยมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
นอกจากศิลปินไทยที่สร้างกระแส T-Pop ให้คึกคักแล้ว ประเทศไทยยังมีการจัดเทศกาลดนตรีมากมายที่เปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศได้แสดงศักยภาพและดึงดูดผู้สนใจจากทั่วโลกมาเยือน เช่น Big Mountain Music Festival, CAT Expo, Monster Music Festival, Longlay Beach Life Festival, Wonderfruit, S2O Songkran Music Festival, Very Festival, Maho Rasop Festival ฯลฯ เทศกาลเหล่านี้ไม่เพียงสร้างพื้นที่ให้ศิลปินไทยได้แสดงความสามารถ แต่ยังดึงดูดศิลปินและนักดนตรีระดับโลกมาร่วมงาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมดนตรีไทยมีความหลากหลายและมีศักยภาพในการเติบโตสู่ระดับสากลสูงยิ่งขึ้น
ตามรายงานการศึกษาสินค้าดนตรีของไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกขยายสู่ตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตามธุรกิจค่ายเพลง ศิลปินนักดนตรีของไทยที่เป็นผู้ประกอบการขนาดรายย่อย ขนาดกลางและขนาดย่อม ยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคในต่างประเทศ และยังไม่มีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งออก ด้วยเหตุนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการ Music Exchange โดยร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่เวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โครงการประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรม PUSH ที่มุ่งผลักดันศิลปินไทยสู่เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ เพื่อนำร่องการสนับสนุนให้ศิลปินนักดนตรีของไทยที่ได้รับการตอบรับเข้าแสดงผลงานเพลงในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติในให้สามารถเดินทางไปร่วมเทศกาลได้ และ 2) กิจกรรม PULL ที่ดึงดูดผู้จัดและบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลกให้เข้ามาสัมผัสวงการดนตรีของประเทศไทย
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า “โครงการ Music Exchange จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2567 และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ มุ่งสร้างกระแส ‘Thai Music Wave’ ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ โดย CEA สนับสนุนให้ศิลปินไทยที่มีศักยภาพทั้งแบบเดี่ยวและวง ไม่จำกัดแนวดนตรี เพื่อไปแสดงบนเวทีระดับนานาชาติ 80 ศิลปิน/วง ขณะเดียวกันโครงการยังดึงดูดผู้จัดงานเทศกาลดนตรีนานาชาติกว่า 75 ราย ให้มารับชมผลงานของศิลปินไทย ผ่านการจัดกิจกรรม Business Matching and Networking ระหว่างผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศกับผู้จัดงานของไทย เพื่อสร้างโอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกัน โดยเน้นดึงดูดผู้จัดจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพยุโรป และอเมริกา”
สำหรับการดำเนินงานของโครงการ Music Exchange ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ศิลปินไทยได้รับโอกาสแสดงผลงานและศักยภาพในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติมากมาย เช่น One Music Camp 2024 ประเทศญี่ปุ่น, SXSW Sydney 2024 ประเทศออสเตรเลีย, AXEAN Festival 2024 ประเทศอินโดนีเซีย, Zandari Festa ประเทศเกาหลีใต้, Taipei City Idol Expo ที่ไต้หวัน และ Outbreak Winter Fest ประเทศอังกฤษ โดยตัวอย่างความสำเร็จของศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงในเวทีนานาชาติผ่านโครงการนี้ ได้แก่ วง Pretzelle ที่ได้ไปแสดงในเทศกาล Taipei City Idol Expo ที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมชาวไต้หวันและผู้เข้าชมเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นศักยภาพของดนตรีไทยในการเจาะตลาดต่างประเทศ พร้อมตอกย้ำวัตถุประสงค์ของโครงการในการสร้างโอกาสให้กับศิลปินไทยบนเวทีระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ CEA พร้อมเดินหน้าแผนการส่งเสริมและขยายตลาดสำหรับศิลปินไทยในอนาคต ผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้จัดงานเทศกาลดนตรีชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสและเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ศิลปินไทยได้แสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 การแสดง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
“เราเชื่อมั่นว่าโครงการ Music Exchange จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้ศิลปินไทยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาชาวโลก ทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร. ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Music Exchange และกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th และเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/CreativeEconomyAgency