“Pakk Taii Design Week 2024” แพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้คน สู่การบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นตัวตนในแบบฉบับของปักษ์ใต้ ผ่านวัฒนธรรม อาหาร ภาพยนตร์ และศิลปะ

เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาล แต่ยังเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้มาแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนในภาคใต้เข้าด้วยกัน และสร้างเครือข่ายกับผู้คนจากทั่วทุกพื้นที่

จบไปแล้วสำหรับ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567” หรือ “Pakk Taii Design Week 2024” โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับภาคใต้ กับแนวคิด “The South’s Turn ถึงทีใต้ ได้แรงอก!” เพื่อผลักดัน “ของดี” ที่สะท้อนดีเอ็นเอของภาคใต้ พร้อมส่งเสริมปักษ์ใต้ให้เป็นศูนย์กลางแห่งความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือการเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะชุมชน เครือข่ายนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในการบอกเล่าความเป็น “บ้านเรา” ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิต วัฒนธรรม อาหาร ภาพยนตร์ ศิลปะและงานฝีมือ รวมถึงโปรเจ็กต์การพัฒนาเมืองที่มาจากการทำประชามติจากทุกภาคส่วน

สำหรับเทศกาลฯ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 นี้ ตลอดระยะเวลา 9 วันของการจัดงานระหว่างวันที่ 17 – 25 สิงหาคม 2567 ได้แสดงให้เห็นพลังของทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้ปักษ์ใต้ทั้ง “น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว” โดยเทศกาลฯ รวมพลังนักสร้างสรรค์มากกว่า 240 คนจาก 14 จังหวัดของภาคใต้ จัดโปรแกรมทั้งหมด 173 โปรแกรม มีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 191,952 คน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 324,398,880 บาท ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิหลา หาดใหญ่ จะนะ จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี

เทศกาลฯ สะท้อนศักยภาพของพื้นที่และชุมชนในการผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน

อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้เก็บเรื่องราวของเมืองสงขลาไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา และเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังการจัดทำนิทรรศการ “Samila Odyssey สมิหลาเชิงซ้อน” เผยว่าสงขลาเป็นจังหวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวที่สำคัญและสามารถขยายผลสืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน อาจารย์เริ่มสนใจสะสมหนังสือ เอกสารจดหมายเหตุ มากว่า 40 ปี นำข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น พร้อมเก็บรวบรวมเหตุการณ์สำคัญไว้ในหนังสือ สมุดภาพสงขลามชิราวุทธ ปี 2536 เมื่อใกล้เกษียณ อาจารย์ก็ยังคงเต็มไปด้วย Passion ในการบอกเล่าเสน่ห์ของเมืองสงขลา จึงสร้างสื่อการเรียนการสอนโดยบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับรายวิชาที่สอน และเปิดชุมนุมนักจดหมายเหตุเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา รวมถึงสร้างเครือข่ายทางด้านจดหมายเหตุที่เข้มแข็งและกว้างขวาง จนถึงทุกวันนี้

อาจารย์และทีมงานได้ทำกิจกรรม ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ที่หาดใหญ่ เป็นเวลากว่า 10 ปี ผ่านการเติมเต็มความรู้ เยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านรอบสงขลา เพื่อรวบรวมเอกสาร ภาพถ่ายเก่า ๆ พัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดตั้งและพัฒนาสถาบันการศึกษาในจังหวัดสงขลา อาจารย์จรัสเผยว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เทศกาลฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อประวัติศาตร์ของย่านเมืองเก่า ไปสู่การนำเสนองานสร้างสรรค์ในรูปแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจรากเหง้าของตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ ตนเองยังได้มีโอกาสทำงานข้ามศาสตร์ร่วมกับทีมอื่น ๆ จึงรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการได้ส่งต่อข้อมูลตั้งต้นที่ได้เก็บรวบรวมไว้ให้ทีมนักออกแบบนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานและสื่อสารเรื่องราวของสงขลา เช่น ข้อมูลแรกเริ่มของการถ่ายภาพเชิงซ้อน ประวัติห้องถ่ายภาพ ชุดภาพถ่ายเชิงซ้อนดั้งเดิม ข้อมูลเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในส่วนจัดแสดงของนิทรรศการโซน Archive Exhibition และศิลปะการจัดวางในรูปแบบโฟโต้มอนตาจ (Photo Montage)

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ แห่ง “Yala Icon” ผู้รวบรวมเหล่าแม่ ๆ มารวมตัวกันใน “มะเทเบิ้ล” เปิดเผยว่าสำหรับเทศกาลฯ ปีนี้ “Yala Icon” ได้รวบรวมกลุ่มนักออกแบบโลคัลและชุมชนรุ่นใหม่ที่สันทัดด้านอาหาร จำนวน 11 ชุมชน จากจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และสงขลา จับมือกันมาทำ “มะเทเบิ้ล” โรงอาหารรูปแบบป๊อปอัปที่จัดเสิร์ฟอาหารใต้แบบหาทานได้ยาก ชุมชนเหล่านี้นำเอกลักษณ์ด้านอาหารมาสร้างสรรค์เมนูอาหารจำนวน 135 เมนู พร้อมต่อยอดเรื่องราวของเมนูบางเมนูขึ้นใหม่ โดยผสานความดั้งเดิมและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว สุนทรียะในศิลปะการออกแบบด้านอาหารที่ต้องหรอยแรงตามแบบฉบับของ “Yala Icon” จึงครองใจคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก เพราะสะท้อนให้เห็นทั้งความตั้งใจของชุมชนต่าง ๆ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งผลักดันเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยงานสร้างสรรค์และทำให้เมืองดีขึ้นจริง

เยเมนส์-ศิววุฒิ เสวตานนท์ ชาวสงขลาแต่กำเนิดที่รับบทสร้างเครือข่ายคนทำหนังให้กับโปรแกรม microWAVE FILM FESTival

โปรแกรม microWAVE FILM FESTival เทศกาลรวมคลื่น~หนังเคลื่อน เทศกาลหนังที่รวมคลื่นคนทำหนัง เปิดรับทุกคลื่นความถี่ เพื่อผลักดันวงการหนังไทยไปข้างหน้า ประกอบไปด้วยหลากหลายกิจกรรม ได้แก่ การฉายภาพยนตร์ นิทรรศการ เวิร์กช็อป เสวนา ทัวร์ และหลักสูตรบ่มเพาะ filmmaker รุ่นใหม่ ซึ่งคุณเยเมนส์รับหน้าที่ดูแลในส่วนของกิจกรรมสร้างเครือข่ายและกิจกรรมเสวนา เช่น “ทำหนังสารคดี สนุกกี่โมง ?” ร่วมพูดคุยพร้อมกับคนเบื้องหลังอย่าง ไก่-ณฐพล บุญประกอบ และ เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์, “เบื้องหลัง มหา‘ลัยเหมืองแร่” ที่ชวนแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้กำกับ นักแสดง และช่างภาพอย่าง เก้ง-จิระ มะลิกุล โกไข่-จุมพล ทองตัน แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ และทีมงานไทบ้านอย่าง ต้องเต-ธิติ ศรีนวล และโต้ง-อัจฉริยะ ศรีทา โดยเป็นการขยายขอบเขตของกลุ่มคนทำหนังให้กว้างขึ้น และเปิดมุมมองจากทั้งคนรุ่นใหม่และมืออาชีพตัวจริง

เทศกาลฯ ในครั้งนี้ คุณเยเมนส์ได้สร้างเครือข่ายสำหรับคนในวงการภาพยนตร์ รวมทั้งเป็นคนกลางในการเชื่อมคนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมผ่านอาสาสมัครที่เป็นเด็กมัธยมจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลา คุณเยเมนส์ ทิ้งท้ายว่า “บริบทของสงขลาเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่จะทำงานราชการ และค้าขายเป็นส่วนใหญ่ เราเห็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่หลังจากที่ได้ทำ microWAVE FILM FESTiva ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก เราตั้งใจเลยว่าต้องมีการเชื่อมเครือข่ายทั้งคนในและนอกพื้นที่เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของคนในพื้นที่ อย่างน้อยที่สุดคือการได้เปิดหูเปิดตาและเปิดใจสำหรับการสร้างโอกาสให้เกิดการต่อยอดได้จริง”

De’south การรวมตัวกันของนักสร้างสรรค์ชาวใต้ กับโปรเจ็กต์ “ลักหยบ หลังร้าน”

กลุ่มนักสร้างสรรค์ 21 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ โดยมีทั้งนักออกแบบ สถาปนิก คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สไตลิสต์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ที่มาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ทุกคนล้วนคุ้นเคยกับหาดใหญ่และกลับบ้านมาทำงานที่นี่เต็มตัว ประกอบกับความตั้งใจในการบอกเล่าเรื่องราวของหาดใหญ่ผ่านมิติของอาหาร (Gastronomy) ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 ความตั้งใจของ De’south คือต้องการนำเสนอมุมมองว่างานออกแบบสามารถช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในเมืองได้อย่างไรบ้าง

วชิรวิทย์ เหล่าหงส์วิจิตร ตัวแทนจาก De’south กล่าวว่า “เราเติบโตมากับหาดใหญ่ เห็นการเปลี่ยนผ่านมากมาย หนึ่งในนั้นคือร้านอร่อยในวัยเด็กที่ชอบไปกินกับที่บ้านค่อย ๆ เลือนหายไป ย้อนไปไม่ไกลเอาแค่เฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ร้านที่เป็นระดับตำนานอยู่มาหลายสิบปีก็ได้ปิดตัวลงหลายร้าน เพราะเมืองหาดใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก หลาย ๆ ร้านคนในพื้นที่แทบไม่เคยไปกิน ในเทศกาลฯ พวกเราจึงได้ทดลองทำโปรเจ็กต์ “ลักหยบหลังร้าน” โดยนำอัตลักษณ์ เรื่องราว เคล็ดลับ วัตถุดิบชั้นเยี่ยมและขั้นตอนการปรุง จากในครัวหลังร้านอาหาร 10 แห่งในหาดใหญ่ มาสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ผ่านสัญญะของงานออกแบบ”

ร้านอาหาร 10 แห่งดังกล่าว ได้แก่

1) ตำรับมุสลิม ออกแบบ “ม่านเมนูลับ” ที่นำเมนูของร้านมาสื่อสารบนม่านไม้ไผ่ที่กันแดดและกันฝนได้ รวมถึงคูปองสำหรับใช้ในร้านอาหาร

2) โกตี๋โอชา หยิบเอาความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ออกมาสื่อสารผ่านเทียนหอม ที่รวมกลิ่นสุดยูนีกของบะกุดเต๋และเหล่าเครื่องยาจีนที่ถูกตุ๋นอยู่ในหม้อ

3) สุ่ยเฮง นำขนมไหว้พระจันทร์มาดีไซน์ตัวลายพิมพ์ใหม่ โดยหยิบยกลายพิมพ์เก่าที่มีความหมายเกี่ยวกับความมงคล มาทำใหม่ให้ทันสมัยแต่ยังคงคอนเซ็ปต์เรื่องการส่งต่อความมงคลผ่านขนมไหว้พระจันทร์

4) อาเหลียงหมาล่า จัดทำ Installation Art ในรูปแบบโคมไฟ ที่บอกเล่าเมนูเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

5) เต้าคั่วป้าแต๋ว ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ จากเดิมที่ถุงพลาสติกมัดยาง กลุ่ม De’south ออกแบบให้สะดวกต่อการรับประทานมากขึ้น

6) ภัตตาคารวอชิงตัน บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและสิ่งที่ซ่อนอยู่ผ่านวัฒนธรรมการกินอาหารเหลาของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองหาดใหญ่ กับภัตตาคารวอชิงตันที่นำเสนองานออกแบบสื่อผสมโดยฉายภาพลงบนโต๊ะอาหาร

7) มันเดือย นำเอกลักษณ์ของถั่ว มัน และเดือยมาสะท้อนผ่านแผ่นผ้าใบที่ออกแบบใหม่ โดยสามารถกรองแสง เพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้กับบริเวณร้าน

8) อ้า ออกแบบกราฟิกลงบนโต๊ะอาหารและเมนู นำโลโก้ดั้งเดิมของร้านที่คล้ายกับงานเขียนการ์ตูน (comic arts) มาปรับลุคให้มีสีสันมากขึ้น นำเมนูปลาต่างๆ ของทางร้านมานำเสนอให้ชัดเจน ภายใต้คอนเซปต์ Happy Fish Tank เพื่อเพิ่มรอยยิ้มและความสนุกให้กับลูกค้าที่ได้มาทานอาหารที่ร้านอ้า

9) เอกข้าวต้มปลากะพง ออกแบบป้ายร้านที่มีอยู่ภายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้ลองทานและรู้จักชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปลากะพงมากขึ้น

10) ร้านอาหารไทยเจ๊เล็ก นำกราฟิกที่ออกแบบจากเมนูลับของร้านอย่างเมี่ยงคำ ไปปรับใช้กับผ้าปูโต๊ะ ดิสเพลย์กระจกหน้าร้าน และสแตนดี้

แม้ว่าเทศกาลจะจบลงไปแล้ว แต่ทุกคนยังสามารถมาร่วมต่อยอด “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้” ในปีต่อ ๆ พร้อมเผยให้เห็นเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้ ผ่านการชูอัตลักษณ์และต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์จากหลากหลายอุตสาหกรรมที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจและพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตของทั้งผู้คน เมือง และวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กัน สู่การส่งเสริมให้ปักษ์ใต้บ้านเรา “น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว” ต่อไปแบบ “ด่าย-แหร่ง-อ็อก”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pakktaiidesignweek.com FB/IG: pakktaiidesignweek

#PTDW2024#TheSouthsTurn#ถึงทีใต้ได้แรงอกCEAPakkTaiiDesignWeek
Comments (0)
Add Comment