“การสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้า” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เมื่อสินค้าแตกต่างจากคู่แข่ง ผู้บริโภคจะรับรู้ถึงคุณค่าเฉพาะตัวของสินค้า ทำให้เกิดความสนใจและต้องการซื้อสินค้า นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ความแตกต่างที่ชัดเจนจะช่วยให้แบรนด์มีความโดดเด่น เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ส่งเสริมให้ลูกค้าเกิดการทดลอง และเมื่อถูกใจก็กลับมาซื้อซ้ำและแนะนำต่อ สร้างการเติบโตในระยะยาว
หนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าคือ “นวัตกรรมและงานวิจัยด้านการตลาด” ที่เมื่อนำมาผสมผสานกันก็จะทำให้สินค้าธรรมดาๆ กลายเป็นสินค้าไม่ธรรมดาได้ในทันที เช่น SME 3 รายนี้ได้แก่ บริษัท บราวน์โว คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตขนมไทยแนวคิดใหม่แบรนด์ “BrownVo” บริษัท ฟูลเกิ้ล จำกัด ผู้ผลิตธัญพืชอบกรอบแบรนด์ “โอพัพ” และบริษัท ลิลลี่อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวแบรนด์ “ถั่วเขาช่อง” ที่นำเอานวัตกรรมและงานวิจัยด้านการตลาดมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ล่าสุดสินค้าใหม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตด้านยอดขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าใหม่เหล่านั้นจะเป็นอะไร เหตุใดถึงได้รับการตอบรับที่ดี และมีการนำ “นวัตกรรมและงานวิจัยด้านการตลาด” ไปปรับใช้อย่างไรบ้าง
“บราวโว” เป็นขนมขบเคี้ยวที่มีแนวคิดในการอัปเลเวลจากขนมไทยสไตล์ Street Food มาต่อยอดพัฒนาด้วยนวัตกรรมเฉพาะของบริษัท โดยมีสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในเซเว่นฯ คือ บราวนี่แผ่นอบกรอบรสคลาสสิก และรสช็อกโกแลตชิพ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี บริษัทจึงเดินหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง และเครปเบื้องกรอบก็เป็นสินค้าตัวถัดมา เหตุผลที่เลือกเป็นเครปเบื้องกรอบ เนื่องจากมองว่าขนมเบื้องเป็นขนมไทยที่ไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ แต่หาซื้อได้ยาก และเมื่อทิ้งไว้นานแป้งจะไม่กรอบ บริษัทจึงให้แผนกวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ทำการวิจัยและพัฒนาตัวแป้งให้รักษาความกรอบได้นานถึง 1 ปี และไส้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ จนได้ออกมาเป็นเครปเบื้องกรอบไส้เค็ม ที่โดดเด่นด้วยไส้มะพร้าวคลุกเคล้าเครื่องเทศในสูตรชาววัง และไส้ฝอยทองที่ทำจากไข่แดงล้วน คงเสน่ห์ความเป็นไทยได้อย่างลงตัว
บราวโว เครปเบื้องกรอบมีความโดดเด่นคือ เนื้อแป้งเครปมีความกรอบ ทานง่าย ตัวไส้ขนมเบื้องถูกพัฒนาให้ออกมาเป็นสูตรเฉพาะ โดยยังคงความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ของขนมเบื้องได้ครบถ้วน เหมาะแก่การเป็นของฝากหรือทานเล่น ในราคา 24 บาท บรรจุซองขนาด 20 กรัม พกพาง่าย โดยเริ่มวางจำหน่ายเมื่อเดือนสิงหาคม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
โดยปกติแล้วขนมครีมช็อกโกแลตมักจะทำมาทานคู่กับบิสกิต ซึ่งตัวบิสกิตมักจะอ่อนตัวเมื่อเจอกับครีมช็อกโกแลต ถือเป็น Pain Point สำคัญ บริษัทจึงทำการศึกษาตลาดเพิ่มเติมถึงความต้องการของตลาดว่าชื่นชอบสินค้าแบบไหน หากทานคู่กับครีมช็อกโกแลต เพื่อหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน และมองว่า ซีเรียล น่าจะตอบโจทย์เพราะสามารถอมน้ำได้ดีกว่า โดยที่เนื้อไม่อ่อนตัว อีกทั้ง Texture ยังมีความกรุบกรอบตลอดการรับประทาน จึงได้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักใน โอพัพช็อกโกแลตผสมซีเรียลรสโอวัลติน และ โอพัพช็อกโกแลตผสมซีเรียลโอวัลตินไวท์มอลต์ โดยเริ่มวางจำหน่ายได้เพียง 3 เดือน ก็สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าคือ 200,000 ชิ้น ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอายุ 8-15 ปี นอกจาก Texture ที่ตอบโจทย์ความต้องการแล้ว รสชาติและแพ็กเก็จจิ้งก็ตอบโจทย์ด้วยเช่นกัน บริษัททำสินค้าให้มีขนาดเหมาะสมต่อการรับประทานครั้งเดียวหมด พกพาง่าย ในราคาที่เข้าถึงได้เพียง 12 บาท และการได้ร่วมกับพันธมิตรทางการค้าที่เป็นที่รู้จักก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า ทำให้คนรุ่นใหม่อยากลอง
“ถั่วเขาช่อง” เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะต้นตำรับถั่วรสกาแฟ มาวันนี้ ถั่วเขาช่อง ได้เพิ่มสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด 2 รายการ ได้แก่ ถั่วเขาช่องซีเล็ค ถั่วผสมเพรทเซลรสวาซาบิ และ ถั่วเขาช่องซีเล็ค อัลมอนด์ผสมพริกกรอบโรยงา โดยสินค้าทั้ง 2 ตัวเกิดขึ้นจากการวิจัยตลาดทั้งในและต่างประเทศทำให้พบว่า ปัจจุบันสินค้ากลุ่มถั่ว Snack โดยทั่วไปจะจำหน่ายเพียงรสชาติใดรสชาติหนึ่ง ไม่มีความหลากหลาย ทำให้มีแนวคิดที่จะผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายในสินค้าแพ็กเก็จจิ้งเดียว เมื่อรวมกับแนวความคิดการตลาดที่ว่า “ถั่วกินกับอะไรก็อร่อย” จึงเกิดเป็นสินค้าทั้ง 2 ชนิดขึ้นมา
สำหรับถั่วผสมเพรทเซลรสวาซาบิ เป็นการนำเอาเพรทเซลรสวาซาบิจากแหล่งคุณภาพมาผสมผสานกับถั่วอัลมอนด์และแมคคาเดเมีย ทำให้ได้ทั้งรสเผ็ดและความหอมของวาซาบิ เมื่อรวมกับความมันของถั่วก็จะทำให้ได้รสสัมผัสที่หลากหลาย สำหรับถั่วเขาช่องซีเล็คอัลมอนด์ผสมพริกกรอบโรยงา เป็นการนำอัลมอนด์มารวมกับพริกคั่วกรอบและผสมกับเครื่องเทศหลากหลายชนิด โรยด้วยงาขาว ตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย คนรุ่นใหม่ Gen Y, Z ที่ชอบความหลากหลาย ไม่ซ้ำจำเจ
ทั้ง 3 แบรนด์สินค้า SME ทำให้เห็นแล้วว่า “การสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้า” โดยใช้ “นวัตกรรมและงานวิจัยด้านการตลาด” เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างการความโดดเด่นให้กับตัวสินค้า ซึ่งจะนำมาสู่ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น และสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ในระยะยาว เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต