เลขาธิการ คปภ. นำทีมภาคธุรกิจประกันภัย ลงพื้นที่ต่อเนื่อง “คืนรอยยิ้ม” ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือเร่งประสานบริษัทประกันภัยสำรวจความเสียหาย “รถยนต์-ทรัพย์สิน” เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนสิ่งของบรรเทาทุกข์จาก นายวรวิทย์ เจนธนากุล นักศึกษา วปส. รุ่นที่ 5 เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ประสบภัยอุทกภัย ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ โดยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด บูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้รับการช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยสั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) ร่วมกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดในสังกัด เร่งประสานบริษัทประกันภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้านการสำรวจความเสียหายทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเพื่อเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว สำหรับรถยนต์ที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจ และการประกันภัยทรัพย์สินอื่น ๆ ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ ทางสำนักงาน คปภ. จังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ประสานและติดตามกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อหาแนวทางในการบรรเทาความเดือนร้อนของผู้เอาประกันภัย โดยประสานอู่ซ่อมรถมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากมีรถจัดซ่อมจำนวนมาก รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของรถจักรยายนยนต์ ทางสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาเชียงราย จัดหาอู่เพื่อจัดซ่อมรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และบริษัทประกันภัยเตรียมความพร้อมรับมือกับอุบัติภัย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจภัย การจัดการค่าสินไหมทดแทน การอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งความเสียหายและเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูและเยียวยาผู้เอาประกันภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการตรวจสอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมของผู้ประสบภัยที่อาจจะมีจากการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนอย่างครอบคลุม ตามสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ทุกประการ

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ประสบภัยในครั้งนี้ ดังนั้น การทำประกันภัย จึงเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุกมิติ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ประชาชนให้ความสำคัญและทำประกันภัยเพราะหากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ระบบประกันภัยจะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

 

oicคปภ.ธุรกิจประกันภัย
Comments (0)
Add Comment