กทพ. สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 เหมาะสมในการแก้รถติดมากที่สุด
วันนี้ (26 กันยายน พ.ศ. 2567) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์แนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ รูปแบบตำแหน่งทางยกระดับ จุดเริ่มต้น – จุดสิ้นสุดโครงการ รูปแบบโครงสร้างทางพิเศษ การออกแบบระบบระบายน้ำ รูปแบบและตำแหน่งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและตำแหน่งที่มีผลกระทบการเวนคืน ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเจ ดับบลิว ทาวเวอร์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมีนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ
นายกาจผจญฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการเป็นทางยกระดับ 2 ฝั่งแบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า และเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นเส้นทางหลักลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ทั้งนี้ โครงการจะมีการกำหนดจุดเข้า-ออกทางพิเศษโครงการทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย 1.จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) โดยมีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ (1) ทางลง Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (2) ทางขึ้น Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง (3) ทางลง Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (4) ทางขึ้น Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการ ในทิศขาออกเมือง
2.ทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก โดยมีทางเลี้ยวรูปแบบ Semi Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนทิศทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการไปทางพระราม 9 เป็นทางเลี้ยวรูปแบบ Directional Ramp ซึ่งในบริเวณนี้จะมีการเวนคืนพื้นที่ทั้ง 2 ข้างทาง เพื่อก่อสร้างทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และ 3. จุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น – ลงลาดกระบัง) เมื่อผ่านจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะข้ามทางเข้า – ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนจะกดระดับลงพื้น และผ่านด้านข้างของสะพานกลับรถเดิมก่อนจะเข้าเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อปรับทางบริการเดิมให้ขนานกับทางขึ้น – ลงของโครงการ รวมถึงออกแบบทางแยกในการเชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น – ลงของโครงการและทางบริการให้ผู้ใช้ทางและประชาชนโดยรอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และถนนฉลองกรุง สามารถเข้า – ออก โครงการได้
สำหรับรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษจะเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องคู่ชนิดหล่อสำเร็จ โดยตอม่อส่วนใหญ่เป็นเสาเดี่ยววางอยู่บริเวณร่องน้ำระหว่างทางขนานและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ฐานรากโครงสร้างออกแบบเป็น Barrette Pile เพื่อลดขนาดของฐานรากให้อยู่ในบริเวณความกว้างของร่องน้ำ โดยเมื่อพัฒนาโครงการ การระบายน้ำระดับดินจากแนวร่องน้ำเดิมที่มีการวางเสาของโครงการแทนที่ ได้ออกแบบให้ใช้รางระบายน้ำตัวยูวางบริเวณด้านข้างของเสาพร้อมทั้งปรับปรุงร่องระบายน้ำเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ และใช้ท่อลอดพร้อมบ่อพัก โดยจะระบายออกตามความเหมาะสมของพื้นที่โครงการ มาลงบ่อพักระบายน้ำเดิมที่อยู่ใต้ทางเท้าหรือติดตั้งใหม่ เพื่อระบายน้ำออกไปยังด้านข้าง และระบายไปยังลำน้ำสาธารณะต่อไป
สำหรับรูปแบบของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมเป็นแบบระบบเปิด โดยจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System : MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System : ETC) ร่วมกันโดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับบริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า ประกอบด้วยฝั่งขาเข้า (มุ่งหน้าไปพระราม 9) จำนวน 8 ช่องจราจร และฝั่งขาออก (มุ่งหน้าไปลาดกระบัง) จำนวน 7 ช่องจราจร
“สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการ ประกอบด้วย ราคาก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงาน และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้าง รวมทั้งหมดประมาณ 20,710 ล้านบาท ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังได้มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและลดระยะเวลาในการเดินทางและเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น” นายกาจผจญฯ กล่าวในท้ายที่สุด