พรูเด็นเชียล ประเทศไทย จับมือ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ผนึกกำลังร่วมกับ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน องค์กรการกุศลของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือได้แก่จังหวัดเชียงราย น่าน และสุโขทัย ผ่านมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (FOPDEV) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุและชุมชน รวมทั้งภาคีร่วมมือภาคสังคมและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยบริจาคเงินจำนวน 2,011,862 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจ
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล ประเทศไทย เปิดเผยว่า “สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ยึดมั่นในเจตนารมณ์ “ชีวิตมีกัน ทุกวันดีกว่า” เราเชื่อว่าธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าได้เพียงลำพัง เราจึงต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง และยั่งยืน จากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ภาคเหนือ เราจึงจับมือกับพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ในหลายๆ ด้าน ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เราขอส่งต่อความห่วงใยและกำลังใจให้กับทุกคนที่ประสบภัยน้ำท่วม เรามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทุกวิถีทาง เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”
แนวทางการช่วยเหลือฉุกเฉินของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุมีดังนี้
- การตั้งครัวกลางช่วยเหลือด้านอาหารโดยทำอาหารแจกวันละสองมื้อ มื้อกลางวัน และมื้อเย็น พร้อมของเยี่ยมสมทบในศูนย์อพยพและผ้าอ้อมผู้ใหญ่อนามัย
- การมอบถุงยังชีพและสิ่งของจำเป็น ให้กับผู้ประสบภัยรวมทั้งผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อช่วยให้สามารถดำรงชีวิตในช่วงวิกฤตได้ จำนวน 4,000 คน
- การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม โดยหลังจากระดับน้ำลดลง บ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากโคลน โดยเฉพาะชุมชนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่หลายคนทำให้ไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากบ้านถูกโคลนท่วม โดยทางมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ในการเข้าไปทำความสะอาดและฟื้นฟูบ้าน โดยใช้ทั้งเครื่องจักรหนักและกำลังคนในการขจัดโคลนออกจากบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถกลับมาใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างปลอดภัย
- การช่วยเหลือฉุกเฉินให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในเบื้องต้น
- การสร้างเครือข่ายการทำงานในการช่วยเหลือฉุกเฉินในพื้นที่ประสบภัย และเสริมสร้างชุมชนที่ประสบภัยซ้ำซาก ให้เข้มแข็ง มีความพร้อมรับปรับตัวต่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว