รองปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการติดตั้งป้ายชื่อสะพานทศมราชัน และตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลา 08.30 น. ณ สะพานทศมราชัน นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานติดตั้งป้ายชื่อสะพานทศมราชันและตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมคณะผู้บริหาร กทพ. และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ

นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) กทพ. กล่าวในรายละเอียดว่า ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ “สะพานทศมราชัน” ให้แก่สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ส่วนหนึ่งของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้นประดิษฐานบนคานยอดเสาสะพาน นั้น กทพ. ได้เร่งดำเนินการจัดทำและติดตั้งแผ่นป้ายชื่อสะพานทศมราชัน และตราสัญลักษณ์ฯ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. แผ่นป้ายชื่อสะพานทศมราชัน จำนวน 2 ป้าย โดยมีตำแหน่งติดตั้งบริเวณใต้ฐานพญานาค ของเสา (Pylon)(ฝั่งกรุงเทพมหานคร – ขาออก) (ด้านซ้ายมือหันหน้าเข้าสู่ผู้ใช้ทาง) และบริเวณใต้ฐานพญานาคของเสา (Pylon) (ฝั่งธนบุรี – ขาเข้า) (ด้านซ้ายมือหันหน้าเข้าสู่ผู้ใช้ทาง) ซึ่งบนป้ายชื่อประกอบด้วย ชื่อภาษาไทย “สะพานทศมราชัน พุทธศักราช 2567” และชื่อภาษาอังกฤษ “THOTSAMARACHAN BRIDGE” โดยมีตราสัญลักษณ์ฯ ขนาดเล็กติดตั้งอยู่เหนือป้ายชื่อดังกล่าว ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

​​2. ตราสัญลักษณ์ฯ จำนวน 4 ตรา ติดตั้งบริเวณ Upper Crossbeam ของเสา (Pylon) ซึ่งมีความสูงจากระดับผิวถนนบนสะพานทศมราชัน ประมาณ 52 เมตร โดยมีตำแหน่งติดตั้ง 4 ตำแหน่ง คือฝั่งกรุงเทพมหานคร – ขาเข้า ฝั่งกรุงเทพมหานคร-ขาออก ฝั่งธนบุรี – ขาเข้า ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และตำแหน่งสุดท้าย ฝั่งธนบุรี-ขาออก ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันนี้ (24 ตุลาคม 2567)

“การทางพิเศษฯ คาดว่าเปิดให้บริการสะพานทศมราชันและทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกได้บางส่วน ภายในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกมุ่งสู่ภาคใต้ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานครได้เป็นอย่างดี” นายชาตรีฯ กล่าวในท้ายที่สุด

 

​ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยEXATTHOTSAMARACHAN BRIDGEกทพ.กระทรวงคมนาคมสะพานทศมราชัน พุทธศักราช 2567
Comments (0)
Add Comment