KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier และ J.P. Morgan Asset Management จัดสัมมนา “Countdown To The US Elections: Market Moves And Investment Strategies” เพื่อวิเคราะห์โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผลโพลสูสี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรง ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร ก็คาดว่าจะส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุน โดยแนะนักลงทุนจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง เพื่อรับมือกับความผันผวนหลังการเลือกตั้ง
นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่และการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายจากรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส จะชนะ หรือพรรคใดจะครองเสียงข้างมากในรัฐบาล ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง รวมถึงทั่วโลก และจากผลสำรวจของหลายๆ สำนักพบว่า เมื่อวันเลือกตั้งใกล้เข้ามาปัจจัยสำคัญที่มีผลในการตัดสินใจเลือกของชาวอเมริกันคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะทะยอยฟื้นตัว หุ้นสหรัฐฯ เองก็มีผลงานที่ดี แต่ผลกระทบจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงได้ทำลายความเชื่อมั่นของคนอเมริกันไปมาก จึงทำให้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดนับแต่การสำรวจหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551
ในขณะที่ นายแคร์รี่ เคร็ก Executive Director and Global Market Strategist J.P. Morgan Asset Management กล่าวว่า สำหรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้สมัครจากรีพับริกันหรือเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นผู้นำคนใหม่ แต่ทั้ง 2 พรรคจะไม่ได้ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดสภาแบบผสม มองว่าการที่ใครจะได้เป็นประธานธิบดีก็สำคัญในระดับหนึ่ง แต่คะแนนเสียงของสภาก็มีความสำคัญในการผ่านกฎหมายเช่นกัน นอกจากนี้ยังมองว่านโยบายที่หาเสียงไว้ อาจจะไม่สามารถนำมาเป็นนโยบายได้จริง หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ทำให้การคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าทำได้ยากลำบาก สำหรับผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส เป็นฝ่ายชนะ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็น่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าจะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเป็นผู้ชนะและผู้แพ้ภายใต้ผู้นำและนโยบายใหม่ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับความสมดุล (Being Balance) โดยการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลายๆ สินทรัพย์ผ่านกองทุนผสม (Balanced Fund) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับพอร์ตโดยรวม ซึ่งในด้านของสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ นักลงทุนต้องถามตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และรอดูสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนต่อไป
นางสาวศิริพร กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับคำแนะนำการลงทุนที่ KBank Private Banking แนะนำคือให้ลงทุนในกองทุนผสม อย่าง กองทุน K-ALL ROADS Series และกองทุน K-WEALTH PLUS Series เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งสามารถลงทุนได้ในระยะยาว และไม่ต้องกังวลต่อสถานการณ์เรื่องผลการเลือกตั้งที่ยากต่อการคาดเดา นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่ต้องลงทุนปรับพอร์ตหลังการเลือกตั้ง ทาง KBank Private Banking ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม เช่น ตัวเลือกกองทุนที่จะได้อานิสงค์จากชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น กองทุน TUSFIN ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ ที่จะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทางการเงิน และกองทุน K-USA ที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯที่มีคุณภาพสูง ที่จะได้ประโยชน์หากโดนัลด์ ทรัมป์เดินหน้านโยบายการลดภาษีนิติบุคคล ตัวเลือกกองทุนที่จะได้อานิสงค์จากชัยชนะของกมลา แฮร์ริส เช่น กองทุน MRENEW / K-PLANET ซึ่งลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาดทั่วโลก เพราะจะได้ประโยชน์จากนโยบายชูโรงของพรรคเดโมแครต และกองทุน K-APB / KFHASIA หรือสินทรัพย์ทั้งตราสารหนี้ และตลาดหุ้นในเอเชีย ซึ่งจะได้อานิสงค์จากความรุนแรงด้านนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เบาบางลง รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่เป็นไปตามแผนจะทำให้ดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลง สวนทางกับสกุลเงินประเทศเอเชียอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น หมายถึง เงินทุนที่จะไหลเข้ามาในเอเชียหนุนสินทรัพย์เอเชียขึ้นต่อจากนี้