นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 หรือ Thailand Insurance Symposium 2024 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” (Redefining Insurance through Technology for Sustainable Life and Health Protection) จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรของสำนักงาน คปภ. อาทิ หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้ง เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังความคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการพัฒนาการประกันภัย และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัยทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader และหัวข้อ “Transforming Healthcare and Insurance with AI” โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น รางวัลดี และรางวัลชมเชย ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for Thai Insurance Industry) อีกด้วย
“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย