ธ.ก.ส. ส่งความสุขปีใหม่ 2568 ด้วยมาตรการช่วยลดหนี้สินและเติมทุนให้เกษตรกร
ธ.ก.ส. ส่งต่อความสุขรับปี 2568 มอบของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกรลูกค้าตามนโยบายรัฐบาลด้วย 2 มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน “ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เรื้อรัง” และ “มาตรการจ่าย-ปิด-จบ” พร้อม 3 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ในการรับช่วงต่อการประกอบอาชีพครอบครัว รวมถึงการต่อยอดและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเกษตรผ่าน “สินเชี่อเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่” และ “สินเชื่อแทนคุณ” พร้อมคืนกำไรให้ลูกค้าที่ชำระหนี้ใกล้กำหนดหรือตรงตามกำหนดด้วย “โครงการชำระดีมีโชค ปี 2567/68”
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 ธ.ก.ส. พร้อมมอบของขวัญพิเศษ เพื่อส่งความสุขและมอบรอยยิ้มให้กับเกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาลด้วยการจัด 2 มาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน สนับสนุนการฟื้นฟูศักยภาพทางการเงิน และการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ได้แก่ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่สถานะเป็นหนี้ NPLs ทุกสัญญา หรือมีต้นเงินเป็น NPLs มากกว่าร้อยละ 75 ของต้นเงินคงเหลือ หรือเป็นลูกหนี้ NPLs ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่มีศักยภาพต่ำและไม่สามารถชำระหนี้ได้เสร็จสิ้น ได้แก่ เกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs จะได้รับสิทธิพิเศษในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการ ดังนี้ 1) ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปี 2) อัตราดอกเบี้ย MRR* ลบร้อยละ 2 ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ตลอดอายุสัญญา แต่ไม่เกิน 20 ปี 3) ลูกหนี้จะได้รับการลดดอกเบี้ยรวมบัญชี ไม่เกินร้อยละ 70 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการแล้วสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถขอเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เป็น การชำระต้นเงินร้อยละ 60 และดอกเบี้ย ร้อยละ 40 (Care Pay 60:40) และเปลี่ยนสถานะ NPLs ให้เป็นหนี้ปกติได้ทันที โดยการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถและสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
“มาตรการจ่าย-ปิด-จบ” สำหรับกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มี NPLs บุคคลธรรมดาในทุกประเภทสินเชื่อที่มีภาระหนี้สินคงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ที่ลูกหนี้ต้องชำระบางส่วนของภาระหนี้ และปลดหนี้ส่วนที่เหลือตามเงื่อนไขมาตรการ เพื่อไม่ทำให้เสียประวัติเครดิต แล้วจึงจะได้รับการยกดอกเบี้ยทั้งหมด เมื่อสามารถชำระได้ตามเงื่อนไข ทั้งนี้ ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวแต่ละราย สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี และลูกหนี้ต้องมียอดค้างชำระต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับตั้งแต่วันกำหนดชำระ (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ซึ่งมีลูกค้าที่มีสิทธิ์เข้ารับมาตรการลดภาระหนี้จำนวนกว่า 19,000 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ในขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. พร้อมคืนกำไรให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาผ่านโครงการชำระดีมีโชค ปี 2567/68 เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาชำระหนี้ในช่วงใกล้ถึงกำหนด หรือตรงตามกำหนดสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงที่ลูกค้ามีรายได้อื่นเข้ามาเป็นลำดับแรก อันเป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อลูกค้าที่มาชำระหนี้ตามเงื่อนไขโครงการจะได้รับของขวัญ 1 ชิ้นทันที รวมมูลค่ารางวัลกว่า 40 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 ณ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ (เงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมุ่งผลักดันทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการต่อยอดและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้เติบโตในธุรกิจเกษตรด้วยสินเชื่อที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ (New Gen & Young Smart Farmer) วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร (Value Added) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรุ่นใหม่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก ไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 15 ปี และสินเชื่อแทนคุณ วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ทายาทเกษตรกรเข้ามารับช่วงต่อในการประกอบอาชีพต่อจากครอบครัว และมีส่วนร่วมในการช่วยลดภาระหนี้สินและรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดังนี้ ปีที่ 1 – 5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ปีที่ 6 – 10 อัตราดอกเบี้ย MRR ลบร้อยละ 1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ลบร้อยละ 2
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การมอบของขวัญปีใหม่แทนคำขอบคุณในครั้งนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดย ธ.ก.ส. พร้อมยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเกษตร (Funding) ผ่านสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (Technology) โดยสนับสนุนการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต การพัฒนาตลาดและองค์ความรู้ (Knowledge and Marketing) ด้วยการเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับเกษตรกร เพื่อพัฒนาช่องทางการจำหน่าย พร้อมขยายตลาดไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Value Added) ด้วยการแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำ อันนำไปสู่
การสร้างรากฐานให้เกษตรกรสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สินสามารถปรึกษาและสอบถามข้อมูลกับ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555