รมว.อว.ทึ่ง “บุรีรัมย์เซอร์กิต” แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำคนบุรีรัมย์

รมว.อว.และผวจ.บุรีรัมย์ ประทับใจการสานพลังข้อมูลความรู้งานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กับพลังภาคีในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของ บพท. ก่อเกิดเป็น“บุรีรัมย์เซอร์กิต”ที่มีระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดบุรีรัมย์ (BPMAP) เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนอย่างได้ผลดี ผ่านโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน และรถพุ่มพวงแก้จน 

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวแสดงความชื่นชมและประทับใจในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมภายใต้ชื่อ “บุรีรัมย์เซอร์กิต” ซึ่งเกิดขึ้นจากการสานพลังข้อมูลความรู้ กับพลังภาคีในพื้นที่ ระหว่างคณาจารย์นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กับ ภาคีภาคราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม รวมทั้งพระสงฆ์ในพื้นที่ โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวง อว.ให้การสนับสนุน ในโอกาสเดินทางลงพื้นที่ติดตามผลการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ ภายใต้ “มหกรรมสานพลังแก้จน ด้วยคนบุรีรัมย์”

“ผลงานบุรีรัมย์เซอร์กิต จากความร่วมมือกันของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กับภาคีหลายภาคส่วนในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดบุรีรัมย์ หรือ BPMAP-Buriram Poverty Map ที่มีความถูกต้องแม่นยำทันสมัย สำหรับใช้เป็นเข็มทิศนำทางในการออกแบบและขับเคลื่อนโมเดลแก้ไขความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สอดคล้องกับบริบทความยากจนครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติด้านทักษะความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ มิติด้านการเงิน มิติด้านที่อยู่อาศัย มิติด้านที่ทำกิน รวมทั้งมิติด้านสังคม”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. กล่าวด้วยว่า ผลงานภายใต้บุรีรัมย์เซอร์กิต ทำให้ครัวเรือนยากจนได้รับความช่วยเหลือให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ผ่านโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน และโมเดลรถพุ่มพวงแก้จน อีกทั้งยังได้รับการดูแลจากระบบสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง ไม่มีการตกหล่นหลงลืม

โอกาสเดียวกันนี้ นายปิยะ ปิจนำ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่าแผนงานนวัตกรรมการยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนจาก บพท. ก่อเกิดกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน ร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) จังหวัดบุรีรัมย์

โดยมีกระบวนการค้นหา สอบทาน และออกแบบระบบข้อมูลคนจนระดับพื้นที่ เพื่อชี้เป้าคนจนรายครัวเรือน ที่สะท้อนปัญหาและฐานทุนดำรงชีพรายครัวเรือนได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การออกแบบกลยุทธ์แก้ไขปัญหาความยากจน และระบบติดตามการช่วยเหลือคนจนที่ตรงเป้า ลดความซ้ำซ้อน รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาโมเดลแก้จนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาเครือข่าย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า การก่อร่างของบุรีรัมย์เซอร์กิต เกิดจากสานพลังความร่วมมือกันของคณาจารย์ นักวิจัย รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กับภาคีในพื้นที่ ระดับท้องที่และท้องถิ่น ในการสืบค้นและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนอย่างละเอียด จัดทำเป็นระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดบุรีรัมย์ หรือ BPMAP-Buriram Poverty Map สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบโมเดลแก้จน ทั้งโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน ซึ่งเปลี่ยนที่ดินสาธารณะที่ถูกทิ้งรกร้าง ให้เป็นที่ทำกินเกษตรแปลงรวม และโมเดลรถพุ่มพวงแก้จน ที่มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทความยากจนในพื้นที่

“ผลสัมฤทธิ์ของบุรีรัมย์เซอร์กิต ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนยากจน 214 ครัวเรือน มีอาชีพเกษตรกร บนที่ดินทำกินในโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน และมีรถพุ่มพวงแก้จนเชื่อมโยงกับเกษตรแปลงรวมเกิดขึ้น จำนวน 120 คัน คนจนได้รับความช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 776 คน และอยู่ในแผนรอรับความช่วยเหลืออีกจำนวน 13,479 คน อีกทั้งผลผลิตจากเกษตรแปลงรวมยังได้รับการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจากโรงแรม และโรงพยาบาล เนื่องจากมีความมั่นใจในความปลอดภัย ”

ดร.พิสมัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ระบบข้อมูล BPMAP ได้รับความเชื่อถืออย่างสูง และถูกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์กว่า 29 หน่วยงาน นำไปใช้ประโยชน์ และ อีก 200 หน่วยงานทั่วทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ มีแผนการจะนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการออกแบบแผนงานโครงการพัฒนา ตลอดจนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ

นายธิติวุฒิ นนพิภักดิ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรสร้างสุข บ้านนาเกียรตินิยม และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โมเดลแก้จนเกษตรแปลงรวม และรถพุ่มพวง ผลงานวิจัยของมหาวิทยาราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนจาก บพท. ช่วยทำให้ 40 ครัวเรือนยากจน คิดเป็นจำนวนคนจน 120 คน มีอาชีพ มีรายได้ มีเงินออม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมอาชีพ และยกระดับการพัฒนาพื้นที่ จากเดิมที่มีเพียงอาชีพเกษตรกรรม และรถพุ่มพวง กระจายผลผลิตจากเกษตรแปลงรวม ปัจจุบันมีตลาดชุมชน ที่ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตมาจำหน่าย เพิ่มพูนรายได้

นางเอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาเกียรตินิยม กล่าวว่า โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน บ้านนาเกียรตินิยม ทำให้ครัวเรือนยากจนมีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. ชี้แจงว่า ผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับคนจน ครัวเรือนยากจน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีต้นทางมาจากการทุ่มเททำงานของคณาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่การสืบค้น สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ พัฒนาไปเป็นระบบข้อมูล BPMAP ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลออกแบบโมเดลแก้จน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

“ทุกวันนี้วิวัฒนาการระบบข้อมูล BPMAP โดยทีมวิจัยมหาวิทยาราชภัฏบุรีรัมย์ มีการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์กับระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด (Practical Poverty Provincial Connext-PPP Connext) และแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviatlon Operating System – PPAOS) ซึ่งช่วยยกระดับระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนทั้งหมด ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และทันสมัยเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น”

 

 

PMUAบพท.บุรีรัมย์เซอร์กิตอว.
Comments (0)
Add Comment