ซีพีเอฟร่วมมือกับทุกภาคส่วน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมส่งเสริมเกษตรกรร่วมมือหยุดเผาแปลง

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่า และปลอดเผาแปลง โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย และจากประเทศเพื่อนบ้าน  ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ทั้งระบบบล็อกเชนที่เพิ่มความโปร่งใส ไม่สามารถปลอมแปลงข้อมูล และภาพถ่ายดาวเทียม ที่ตรวจจับจุดความร้อน (Hotspot) และร่องรอยการเผา (Burn Scar) มาใช้ ควบคู่กับการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

นายบุญเสริม เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านบริหารกระบวนการธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัจฉริยะเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ช่วยลดของเสีย และลดฝุ่น ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับการรับซื้อวัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกเท่านั้น ตามนโยบาย ไม่รับซื้อและนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่บุกรุกพื้นที่ป่า และพื้นที่มีการเผาแปลง และใช้ระบบ GPS ติดตามรถขนส่งผลผลิต ทำให้การขนส่งข้าวโพดเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟทั่วประเทศมีความถูกต้อง ชัดเจน และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารสัตว์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่นละออง สร้างอากาศสะอาด

ล่าสุด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โรงงานอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟทั่วประเทศ ได้รณรงค์สร้างความตระหนักให้กับเกษตรกร และประชาชนมีส่วนร่วมติดตามและแจ้งการเผาแปลง เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรกำลังเตรียมแปลงเพาะปลูกของฤดูกาล มีความตระหนักช่วยกันติดตามและหยุดการใช้การเผาแปลง โดยร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามการเผาแปลง และมีการแสดงผลการติดตามแบบรายวัน ผ่านห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ ที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA Firms จำนวน 3 ดวงติดตามจุดความร้อน รำประมวลผลกับพิกัดแปลงปลูกของเกษตรกรโดยอัตโนมัติ ทำให้บริษัทเห็นข้อมูลเกษตรกรที่เผาแปลงได้แบบรายวัน นอกจากนี้ยังนำ ภาพถ่ายดาวเทียม Burn Scar ที่สามารถตรวจจับร่องรอยการเผาได้ย้อนหลัง เพิ่มความโปร่งใสในการจัดการ และกำกับดูแลเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทานลด ละ เลิกการเผา

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า เกษตรกรที่ลงทะเบียนในระบบตรวจสอบย้อนกลับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟมีอยู่ประมาณ 65,000 ราย ซึ่งขณะนี้ บริษัทมีการติดตามการเผาแปลงผ่านห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับทุกวัน และ ร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจผู้รับซื้อและรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในแต่ละจังหวัด ช่วยกันรณรงค์หยุดการเผาเศษวัสดุ และทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อหาแนวทางจัดการซากตอซัง และมีมาตรการจะหยุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทันทีเป็นเวลา 1 ปีเมื่อพบว่ามีการเผาแปลง นอกจากนี้ได้ขยายผลการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสนับสนุนแนวทางของภาครัฐในการสร้างความร่วมมือเพื่อลดฝุ่นละอองและหมอกควันข้ามพรมแดน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังพัฒนา แอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรได้ปรับปรุงแนวทางการเพาะปลูกที่ถูกหลักวิชาการ ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวโพด รวมทั้งการส่งเสริมวิธีการการจัดการเศษวัสดุที่เหมาะสม การดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

CPFPM 2.5ซีพีเอฟเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
Comments (0)
Add Comment