เนสกาแฟ ยืนยันมั่นคงในตลาดไทย พร้อมสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นและการลงทุนในประเทศ

เนสกาแฟ แบรนด์กาแฟชั้นนำจากเนสท์เล่ ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทย ผ่านการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่องมาเกิน 40 ปี ล่าสุด เมื่อต้นปี 2568 เนสท์เล่ได้ซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากเกษตรกรไทยเช่นเคย เพื่อสนับสนุนตลาดกาแฟในประเทศ

ตั้งแต่ปี 2533 เนสท์เล่ได้ร่วมมือกับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยเนสท์เล่ได้ถ่ายทอดสูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ QCP ซึ่งดำเนินการผลิตตามมาตรฐานของเนสท์เล่ อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดสัญญากับ QCP เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทำให้เนสท์เล่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย โดยในขณะนี้บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทท้องถิ่นในการผลิตเนสกาแฟ พร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศในแถบอาเซียนชั่วคราว เพื่อรองรับความต้องการในตลาด

ทั้งนี้ เนสท์เล่ได้ดำเนินการตามคำตัดสินของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยศาลได้ยืนยันว่า เนสท์เล่เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังมั่นใจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ในเร็วๆ นี้

เนสท์เล่ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อวัตถุดิบจากพวกเขาเพื่อใช้ในการผลิตกาแฟ เนสท์เล่ได้ลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 22,800 ล้านบาทระหว่างปี 2561-2567 และจะยังคงดำเนินการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างประโยชน์แก่ลูกค้า เกษตรกร และพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย

Commitment statement Q&A 

1) อยากให้สรุปเรื่องราวระหว่างเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริว่าเป็นอย่างไร

: เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ เนสท์เล่ร่วมลงทุนกับฝั่งคุณประยุทธ มหากิจศิริ ทำโรงงานชื่อบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย คุณประยุทธและครอบครัวถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่งและเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด พอบริษัท QCP หมดอายุสัญญากับเนสท์เล่ เนสท์เล่ก็ไม่ได้ต่อสัญญาเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ศาลอนุญาโตตุลาการสากลก็ตัดสินว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุน (Joint Venture) ถูกต้องแล้ว แต่ฝั่งคุณเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว กลับฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมีนบุรี โดยที่เนสท์เล่ยังไม่ทันได้นำเสนอพยานหลักฐานซึ่งรวมถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากลที่มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย ก่อนที่ศาลแพ่งมีนบุรีจะมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ไม่ให้ผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้าสินค้า เนสกาแฟในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นผลกระทบเป็นวงกว้าง จนกระทั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ซึ่งทำให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ

2) เนสท์เล่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร

: เนสท์เล่ จะทำทุกวิถีทางในทางกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นบริษัท QCP ดังกล่าว

3) กรณีของเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริ เหมือนกับกรณีเจ้าของแบรนด์ดังและผู้ผลิตในประเทศไทยที่ยกเลิกสัญญากันในอดีตใช่หรือไม่

: มีข้อแตกต่างกันหลายประการ ซึ่งก็คือ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ตระกูลมหากิจศิริถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัทQCP ที่ทำหน้าที่ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่

4) เนสท์เล่จะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทยใช่ไหม และจะสร้างที่ไหน

: เรามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย แต่เรายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้

5) การที่เนสท์เล่ออกแถลงการณ์ว่าจะต้องหยุดส่งสินค้าชั่วคราว เป็นความตั้งใจของการตลาดเพื่อสร้างกระแสและขึ้นราคาสินค้าหรือไม่

: ไม่ใช่เลย เนสท์เล่ จำเป็นต้องหยุดส่งผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เนสท์เล่ มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกรไทย และคู่ค้าซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว และเนสท์เล่ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์

6) คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีไม่มีผลบังคับใช้แล้วหรือ 

: เรายึดตามคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568

7) ทำไมบริษัท QCP ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้อีก

: เพราะสัญญาระหว่าง เนสท์เล่กับบริษัท QCP สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล ดังนั้น บริษัท QCP จึงไม่มีสิทธิในการผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอีกต่อไป หลังจากนั้นมา เนสท์เล่ก็ได้จัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคไทย ด้วยการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว จนกว่าเนสท์เล่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศได้อีกครั้ง

 

NescaféNestleQCPเนสกาแฟเนสท์เล่
Comments (0)
Add Comment