เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง (บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนา “โครงการขับเคลื่อนการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน” การสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Green House Gas Emissions) ร่วมกันพัฒนาและผลักดันการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อไป
ความร่วมมือระหว่างสององค์กรในครั้งนี้มีเป้าหมายร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างระบบ Net-Zero Construction Platform อาทิ กรรมวิธีการก่อสร้างแบบแห้ง (Dry Process Construction) การใช้วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Material) หรือวัสดุที่มีค่าคาร์บอนเป็นลบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอีกด้วย รวมไปถึงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการอยู่อาศัยภายในบ้านและอาคาร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้นท่ามกลางภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน อาทิ การลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน การเพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีภายในที่อยู่อาศัย โดยใช้นวัตกรรมด้านการออกแบบเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ
นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์ ESG ในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีโดยตรง ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิงมุ่งเสาะหา และพัฒนาวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ โซลูชันการอยู่อาศัยที่ทำให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการลดการใช้พลังงาน รวมถึงกระบวนการก่อสร้างทางเลือกที่ทำให้การก่อสร้างในอนาคตลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น”
“การลงนามความร่วมมือนี้ เป็นความร่วมมือเชิงวิชาการด้านการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงระบบการก่อสร้างเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนครั้งแรกของเอสซีจี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และการพัฒนาวัสดุคาร์บอนต่ำแล้ว เราหวังว่าแผนงานที่ได้จากโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ ผลักดันและส่งเสริมกระบวนการการก่อสร้างแบบแห้งให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เกิดการนำมาใช้จริงในอนาคต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัสดุคาร์บอนต่ำมากขึ้น ให้เป็นทางเลือกให้กับนักออกแบบ เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการ เพื่อร่วมกันสร้างการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ในฐานะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญทั้งในส่วนของการสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงระบบนิเวศการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของคณะที่มุ่งมั่นพัฒนางานสถาปัตยกรรมและการออกแบบสู่สังคมแห่งอนาคต ทั้งการส่งเสริมการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน การต่อยอดภูมิปัญญา และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศ คณะ จึงมีความคาดหวังว่า ความร่วมมือระหว่างสององค์กร จะช่วยส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการอยู่อาศัยและการก่อสร้างที่ยั่งยืนในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน และร่วมผลักดันการสื่อสารองค์ความรู้สู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะผ่านการสัมมนา การจัดนิทรรศการ ต่อยอดงานวิจัยเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญให้กับสถาปนิกและนักออกแบบ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงนิสิต นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาในระดับนโยบายให้กับภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและสร้างการเชื่อมต่อระบบนิเวศการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนที่แท้จริงต่อไป
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทั้งการเรียนการสอน และการวิจัยและพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบแบบบูรณาการที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในระดับประเทศและนานาชาติ