หลักสูตร 4ส15 สถาบันพระปกเกล้า กับการดูงาน 3 จังหวัดภาคกลาง ตอกย้ำการนำความรู้จากห้องเรียนพบกับความจริง พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งกับคนในท้องที่และในกลุ่มนักศึกษาเอง ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ชี้การดูงานคือการต่อยอดจากห้องเรียน ขณะที่นักศึกษาตัวแทนภาครัฐย้ำประโยชน์ที่ได้รับมากมายกว่าที่คิด ด้านนักศึกษาตัวแทนภาคเอกชนเผยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในธุรกิจและสังคม
นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการศึกษาดูงานในพื้นที่ภาคกลาง ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 15 หรือ 4ส15 ว่าการดูงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของหลักสูตร ที่ต้องการให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความขัดแย้ง สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งจากการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งในสังคมพหุลักษณ์
“การดูงานเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษานำความรู้จากในห้องเรียนนำไปใช้กับของจริง ขณะเดียวกันก็ได้เจอของจริงนำมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์จริงรวมทั้งกับนักศึกษาด้วยกันเอง ถือเป็นการต่อยอดจากทฤษฎีและปฏิบัติ และปฏิบัติกลมกลืนกับทฤษฏี นำไปสู่การตัดสินใจในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีในทุกเหตุการณ์ในอนาคตของทุก ๆ คน จากการลงพื้นที่จริง ทุกเหตุการณ์จริงจึงไม่ชัดเจนทั้งหมด ต้องมีการวิเคราะห์ การถามหาคำตอบจนเป็นองค์ความรู้ที่ดีเป็นอำนาจในการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องต่อสู้กัน”
นายศุภณัฐ กล่าวต่ออีกว่าการดูงานและการศึกษาหลักสูตรนี้ทำให้มีเจตคติที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในสังคม รวมทั้งยึดมั่นสันติวิธีทั้งในสำนึกและพฤติกรรม โดยเน้นการสร้างสันติวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เพื่อทำให้สังคมไทยพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ก้าวหน้าสู่สันติวิธี มิติเชิงคุณค่าได้ดียิ่งขึ้น
“การดูงานครั้งนี้หลายอย่างเป็นความรู้ใหม่ เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยศึกษาและรับราชการมาก่อน ที่สำคัญสามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงาน เพราะหลักสูตรนี้จากการศึกษาที่ผ่านมายังรู้สึกเสียดายถ้าหากได้ศึกษาหลักสูตรเช่นนี้เมื่อก่อนหน้านี้สัก 10 ปี น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าที่ผ่านมา ที่สำคัญในหลักสูตรและการดูงานมีความครบถ้วนทุกสถานการณ์ในเรื่องความขัดแย้ง นับเป็นความหวังของสังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลาย ๆ เรื่องในหลายพื้นที่ หลักสูตรนี้จึงเหมาะสมกับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริง” นายธิติ กล่าว
“หลายอย่างสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจที่ทำอยู่ อย่างเช่น ศาสตร์พระราชา ที่เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ทำให้โครงการสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้ จากการทำงานในภาคเอกชนและมุมมองแบบวิศวะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ได้เรียนรู้ว่า ในทางสังคมการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่สามารถชี้ถูกหรือผิดได้ทุกเรื่องเช่นวิทยาศาสตร์ ที่เมื่อหนึ่งบวกหนึ่งต้องได้สองทุกครั้ง เพราะการพูดคุย การรับฟัง การยอมรับ และการยืดหยุ่นในการแก้ปัญหากลับสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าการชี้ไปเลยว่าต้องทำเช่นนี้ หรือบอกว่าทำเช่นนี้ผิดเป็นต้น” นายพลัฎฐ์ กล่าว