ธนาคารออมสิน เผยความสำเร็จการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอด 5 ปี (2563–2567) เดินหน้าใช้กำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบเชิงบวก (Social Impact) ให้ประชาชนกว่า 13 ล้านคน หรือกว่า 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินรวม 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมยืนยันสถานะการเงินยังเติบโตแข็งแกร่ง นำส่งรายได้รัฐทะลุ 96,000 ล้านบาท ติดอันดับรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินเข้าคลังสูงสุด 1 ใน 3
“นายวิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารได้พลิกบทบาทจากธนาคารเพื่อการออมทั่วไป สู่การเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” (Social Bank) โดยมุ่งหมายทำธุรกิจปกติเพื่อสร้างกำไร และนำผลกำไรนั้นมาใช้ขับเคลื่อนภารกิจทางสังคมอย่างเป็นระบบ
“เป้าหมายของธนาคารไม่ใช่แค่ผลกำไรในงบดุล แต่คือการสร้างโอกาส ฟื้นความสามารถในการดำรงชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยอย่างยั่งยืน”
ปลดล็อกการเงิน-หนี้สิน สร้างโอกาสใหม่ให้ฐานราก
ตลอด 5 ปี ธนาคารออมสินดำเนินภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ
2. แก้ไขปัญหาหนี้สิน
3. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสังคม
4. สนับสนุนนโยบายรัฐด้านเศรษฐกิจ
ด้านการเข้าถึงแหล่งทุน (Financial Inclusion) ธนาคารช่วยเหลือประชาชนกลุ่มฐานรากแล้วกว่า 7.5 ล้านราย หรือ 10.4 ล้านบัญชี ด้วยวงเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ผ่านโครงการสำคัญ อาทิ
– “สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ” กว่า 340,000 ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท
– “สินเชื่อสร้างเครดิต” สำหรับกลุ่ม Unserved/Underserved
– ตั้ง บริษัท เงินดีดี จำกัด ขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ
– ลงสนามแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ดันดอกเบี้ยตลาดลดลงเหลือ 16–18%
ด้านการแก้หนี้ ออมสินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ 6.4 ล้านราย (8.5 ล้านบัญชี) ผ่านมาตรการเชิงรุก เช่น
– ปลดหนี้ช่วงโควิดกว่า 1.3 ล้านบัญชี
– รีไฟแนนซ์หนี้ครู-บุคลากรทางการศึกษา
– มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ช่วย 190,000 ราย
– ตั้ง Ari-AMC เพื่อบริหารหนี้ด้อยคุณภาพอย่างมีระบบ
หนุนเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับทักษะการเงิน
ในมิติการพัฒนาสังคมและชุมชน มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วกว่า 1.07 ล้านราย ผ่านโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Holistic Area-Based Development) การส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์การออมระยะยาว และนวัตกรรมใหม่ เช่น แอปพลิเคชัน “โค้ชออม” ที่ให้ความรู้ด้านการเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย
ธนาคารยังได้จัดตั้ง 4 บริษัทลูก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ได้แก่
-เงินดีดี จำกัด – สินเชื่อรายย่อย
-มีที่ มีเงิน จำกัด – สินเชื่อ SMEs
– บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด – บริหารหนี้ NPL
– จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด – หนุนภารกิจด้านดิจิทัลและ AI
กำไรเติบโต-ฐานะการเงินแกร่ง ส่งรายได้รัฐปีละหมื่นล้าน
แม้มุ่งภารกิจทางสังคมเป็นหลัก แต่ออมสินยังคงรักษาความแข็งแกร่งด้านการเงินไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 18.83% และมีเงินสำรองหนี้รวมสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท
เฉพาะในปี 2567 ธนาคารสามารถนำส่งกำไรเข้ารัฐได้กว่า 23,000 ล้านบาท และตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมเป็นยอดสะสมกว่า 96,000 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงสุดของประเทศ
ธนาคารออมสิน ในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้บริการทางการเงิน แต่ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็น “เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์” ของรัฐ ในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และยืนยันให้เห็นว่า “ภารกิจเพื่อสังคม” สามารถเดินคู่ไปกับ “การเติบโตขององค์กร” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน