“ธนาคารน้ำใต้ดิน” โมเดล ESG ของซีพีเอฟ พลิกวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วม สู่ความมั่นคงทางน้ำอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี ความผันผวนของฝนฟ้าไม่เพียงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ “น้ำ” จึงไม่ใช่แค่ทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป แต่กลายเป็นทั้งต้นทุน โอกาส และจุดเปลี่ยนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หนึ่งในโซลูชันที่ตอบโจทย์แนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) อย่างเป็นรูปธรรม คือ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” แนวคิดที่พลิกวิธีคิดจาก “การรอน้ำฝน” ไปสู่ “การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ” ซึ่งซีพีเอฟ (CPF) นำไปขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนเกษตรกรรมทั่วประเทศ และประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลายพื้นที่

จากปัญหาซ้ำซาก สู่จุดเปลี่ยนของหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า

ย้อนกลับไปในปี 2564 หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมขังซ้ำซาก เกษตรกรต้องซื้อน้ำมาใช้เลี้ยงหมูและปลูกพืช ขณะเดียวกัน เมื่อฝนตกกลับเกิดน้ำขังเสียหาย แต่ด้วยการสนับสนุนของซีพีเอฟในฐานะ “พี่เลี้ยงชุมชน” มากว่า 48 ปี ร่วมกับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ทำให้ชุมชนเริ่มพัฒนา “ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน” ที่ตอบโจทย์ทั้งภัยแล้งและน้ำหลาก

ระบบนี้อาศัยหลักการเก็บน้ำฝนหรือน้ำส่วนเกินในฤดูฝนให้ไหลลงสู่ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน ช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในดิน และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้ในยามขาดแคลน แบ่งเป็น “บ่อเปิด” และ “บ่อปิด” ทำให้วันนี้ หมู่บ้านหนองหว้าไม่มีปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำอีกเลย แถมยังสามารถลดต้นทุนค่าน้ำได้ถึงปีละ 1 ล้านบาท

ผลลัพธ์เชิงสังคมคือ สุขอนามัยในชุมชนดีขึ้น น้ำไม่เน่าเสีย เพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรได้ตลอดปี และที่สำคัญที่สุดคือ ชุมชนสามารถดูแลจัดการทรัพยากรน้ำของตนเองได้จริง

ขยายผลสู่กำแพงเพชร ชูโมเดล “1 บ้าน 1 บ่อ”

จากความสำเร็จของหนองหว้า ซีพีเอฟได้ขยายโมเดลนี้สู่ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและขาดแคลนน้ำหน้าแล้งอย่างรุนแรง

ภายใต้แนวคิด “ขีด คิด ร่วม ข่าย” เกษตรกรในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และซีพีเอฟ ร่วมกันริเริ่มโครงการธนาคารน้ำใต้ดินอย่างเป็นระบบ โดยการลงมือศึกษาจากต้นแบบจริง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และดำเนินการขุดบ่อธนาคารน้ำจำนวน 10 บ่อ

ผลลัพธ์คือ พื้นที่กว่า 50 ไร่ ที่เคยถูกน้ำท่วมขังกลับมาทำเกษตรได้อีกครั้ง ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปีทั้งในการเลี้ยงหมูและปลูกพืช พร้อมต่อยอดสู่แผน “1 บ้าน 1 บ่อ” ครอบคลุมครบ 40 ครัวเรือนภายในปี 2569 สร้างความมั่นคงด้านน้ำในระดับครัวเรือน

ที่สำคัญ หมู่บ้านฯ ยังกลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน” เปิดรับเกษตรกร นักเรียน และหน่วยงานจากทั่วประเทศ เข้าศึกษาดูงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้และจุดประกายการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ขับเคลื่อน ESG ในห่วงโซ่การผลิตสุกร

ไม่เพียงแค่ในชุมชน ซีพีเอฟยังนำแนวคิดธนาคารน้ำใต้ดินไปใช้จริงในสถานประกอบการของธุรกิจสุกรทั้งในระดับฟาร์มและโรงชำแหละ รวม 8 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มสุรินทร์ ฟาร์มยโสธร ฟาร์มจอมทอง ฟาร์มวังชมภู ฟาร์มอุดมสุข ฟาร์มราชบุรี โรงชำแหละสุกรจันทบุรี โรงชำแหละสุกรยโสธร

การดำเนินงานนี้ช่วยลดการพึ่งพาน้ำดิบจากธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต และสนับสนุนเป้าหมาย Net Positive Water Impact ตามกรอบ ESG ของบริษัท

โมเดลน้ำที่สร้างได้ทั้งความมั่นคงและความร่วมมือ

“ธนาคารน้ำใต้ดิน” ของซีพีเอฟ ไม่ได้เป็นแค่โครงการบริหารจัดการน้ำ แต่คือ ระบบคิดที่ยึดหลัก ESG อย่างแท้จริง ทั้งในด้าน

-สิ่งแวดล้อม (E): กักเก็บน้ำธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศ

-สังคม (S): พัฒนาอาชีพ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตชุมชน

-ธรรมาภิบาล (G): เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และการเรียนรู้ร่วมกัน

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องเริ่มจากโครงการขนาดใหญ่หรือเทคโนโลยีราคาแพง หากแต่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือ ความเข้าใจในท้องถิ่น และการคิดให้เป็นระบบ

เพราะการ “ฝากน้ำไว้กับดิน” คือการวางรากฐานเพื่อความมั่นคงทางน้ำในอนาคต และเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

CPFESGซีพีเอฟธนาคารน้ำใต้ดิน
Comments (0)
Add Comment