จับตา!! มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่สหรัฐฯ และการไต่สวนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ก.พ.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯรอบใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีไบเดน นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังออกมาดี เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ม.ค.ที่ปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน ขานรับการที่สหภาพยุโรปเตรียมพิจารณาอนุมัติให้ใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จากบริษัทจีนและรัสเซียเข้ามาจำหน่ายในยุโรปได้ ประกอบกับ GDP ของยูโรโซน ในไตรมาส 4/2020 ที่หดตัวลงน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับการที่ธนาคารกลางจีนทยอยอัดฉีดเงินต่อเนื่อง ผ่านข้อตกลง reverse repos เพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอก่อนถึงวันหยุดในเทศกาลตรุษจีน

ส่วนตลาดหุ้นอินเดียปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขานรับการเปิดเผยงบประมาณประจำปี 2021-2022 ของรัฐบาลอินเดีย และการที่ธนาคารกลางอินเดียย้ำจุดยืนในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้านตลาดหุ้นไทยปิดบวก ตามแรงซื้อนำในหุ้นกลุ่มธนาคาร จากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญในบางธนาคารขนาดใหญ่ลดลง หลังจากเร่งตั้งสำรองไปแล้วในปีที่ผ่านมา และแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี

สำหรับราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียได้ปรับลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 8.125 ล้านบาร์เรล/วันนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ไปจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ และกลุ่มโอเปกพลัสยังคงปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง ในขณะที่ ราคาทองคำปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

 

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ โดยยังได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากความคาดหวังการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ หลังนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การจ้างงานในสหรัฐฯจะกลับมาขยายตัวได้เต็มศักยภาพอีกครั้งในปี 2022 หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ของประธานาธิบดีไบเดนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ประกอบกับได้แรงหนุนจากแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ซึ่งล่าสุด ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 124 ล้านโดส และความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิด-19 ซึ่งล่าสุด วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ของประเทศแอฟริกาใต้

นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ประจำไตรมาสที่ 4/2020 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จะทำให้ทางการหลายประเทศยังต้องคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดต่อ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังมีอยู่

ขณะที่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ตามที่ในสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาไต่สวนเพื่อถอดถอนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ประกอบกับ ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั้งในสหรัฐฯ และจีน จากประเด็น Valuation ที่ตึงตัว และแนวโน้มการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขี้นเพื่อป้องกันการผูกขาด โดยประเด็นต่างๆข้างต้นนี้ สามารถกดดันให้ตลาดหุ้นโดยรวมให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯได้อนุมัติร่างงบประมาณ ซึ่งจะเปิดทางให้พรรคเดโมแครตผลักดันมาตรการเยียวยารอบใหม่ที่ถูกเสนอโดยประธานาธิบดีไบเดน สามารถผ่านสภาคองเกรสโดยใช้วิธีเสียงข้างมาก ขณะที่ โฆษกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า มีโอกาสจะผ่านร่างมาตรการเยียวยาได้ก่อนที่เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจะหมดลงในวันที่ 15 มี.ค.
  • ติดตามการระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของสหรัฐฯลดลง 20% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ ญี่ปุ่นได้ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 9 จังหวัด อีก 1 เดือน แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นจะลดลง
  • ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยบริษัท Johnson & Johnson ได้เปิดเผยผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 แบบเข็มเดียวพบว่า มีประสิทธิภาพ 66% และบริษัทได้ยื่นขออนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ และเตรียมยื่นอนุมัติกับหน่วยงานในยุโรปสัปดาห์นี้ ด้านวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Sinovac ได้รับอนุมัติให้ใช้กับประชาชนจีนทั่วไปเป็นวัคซีนลำดับที่ 2 หลังจากที่วัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธ.ค.
  • ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯได้กดดันจีนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และเตือนว่า จีนจะต้องรับผิดชอบต่อการคุกคามเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเด็นขัดแย้งในด้านดินแดนกับไต้หวัน
  • ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังจีนได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนหันมาให้ความสำคัญในด้านความร่วมมือและจัดการความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมามั่นคง นอกจากนี้ สหรัฐฯและจีนยังมีกำหนดการทบทวนข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันในเฟสแรก ช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้
  • การออกกฎระเบียบป้องกันการผูกขาดธุรกิจ Internet ในจีน โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อไม่ให้บริษัทรายใหญ่ของจีน เช่น Alibaba, JD.com และ Tencent จับมือกันเพื่อกีดกันบริษัทรายเล็ก และไม่ให้ลดราคาต่ำกว่าทุนเพื่อบีบให้คู่แข่งออกจากตลาด
  • การพิจารณาไต่สวนนายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 9 ก.พ. ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้กลุ่มผู้สนับสนุนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. โดยหากวุฒิสภาสหรัฐฯมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ว่านายทรัมป์มีความผิดจริง จะส่งผลให้ถูกถอดถอนและไม่สามารถลงเลือกตั้งในนามของตนเองได้อีก รวมทั้งถูกตัดสิทธิพิเศษต่างๆของอดีตประธานาธิบดี
  • การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2020 เช่น AstraZeneca, General Motors, Disney, Cisco Systems, Twitter และ Coca-Cola โดยล่าสุดบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ใน S&P500 รายงานผลประกอบการไปแล้ว 59% ซึ่งดีกว่าคาดสูงถึง 81%
  • ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ   ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) อัตราเงินเฟ้อ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ยุโรป รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจจากคณะกรรมาธิการยุโรป ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

เยอรมนี ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อ

อังกฤษ   ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม GDP ในไตรมาสที่ 4/2020

ญี่ปุ่น      ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

จีน          ยอดระดมทุนรวม การปล่อยกู้ใหม่ในสกุลหยวน อัตราเงินเฟ้อ

ไทย        เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

++++++

วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office

                      นายจตุรภัทร ทนาบุตร   ผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office