เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ปี 2564 แข็งแกร่งต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ และโควิด 19 ผลจากทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับ 3 เมกะเทรนด์ตอบโจทย์ตลาดโลก
เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2564 ธุรกิจแข็งแกร่งต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบพุ่งสูงต่อเนื่อง และวิกฤตโควิด 19 ด้วยการเร่งทรานส์ฟอร์มทุกธุรกิจ รับ 3 เมกะเทรนด์ ได้แก่ ชู ESG ในการดำเนินธุรกิจ – ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตและขยายอีคอมเมิร์ซ – พัฒนาโซลูชันใหม่รับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมดูแลสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ให้ชุมชนทั้งในไทยและอาเซียน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 530,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากปีก่อน สาเหตุจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ ส่วนใหญ่จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับปี 47,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์ ทั้งนี้ กำไรจากดำเนินงานปกติ (Normalized Profit) เท่ากับ 48,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อน
โดยเอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2564 อยู่ที่ 182,510 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็นร้อยละ 15 และ Service Solution คิดเป็นร้อยละ 5 ของยอดขายรวม
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 142,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยมีกำไรสำหรับงวด 8,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อน มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Profit) 7,813 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2564 ทั้งสิ้น 242,886 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่า 861,101 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในปี 2564 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 จากปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยมีกำไรสำหรับปี 28,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 65,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อนและ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,500 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 182,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 4,262 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 45,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมียอดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ นอกภูมิภาคอาเซียนและความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายในประเทศตามงานปรับปรุงและซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,785 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1,579 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
SCGP ในปี 2564 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และ สหราชอาณาจักร รวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) และการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership – M&P) ซึ่ง SCGP มีฐานการผลิตในหลายประเทศและผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกได้ดี
สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2564 SCGP มีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลในอาเซียน ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การเตรียมสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อาหารแช่แข็ง เพื่อรองรับความต้องการซื้อในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ และการรวมผลการดำเนินงานของ Go-Pak ผู้ให้บริการโซลูชันบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ, Duy Tan ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม, Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในประเทศอินโดนีเซีย และ Deltalab ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในประเทศสเปน โดยมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2564 เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบสูง ภาวะเงินเฟ้อและโควิด 19 แต่เอสซีจีได้เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถรักษาการเติบโตในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ โดยปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับ 3 เมกะเทรนด์ ได้แก่ ชู ESG ในการดำเนินธุรกิจ – ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า – พัฒนานวัตกรรมโซลูชันรับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต
ชู ESG (Environmental, Social and Governance) ในการดำเนินธุรกิจ เอสซีจีใช้ ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส” เป็นกรอบพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติและ BCG Economy ของภาครัฐ เอสซีจีเตรียมเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทภายในปี 2573 เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ ให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero 2050) โดยในปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (ทำได้ดีขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปี 2563) และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์รักษ์โลกฉลาก SCG Green Choice จากร้อยละ 33 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 41 ในปี 2564
ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น เทคโนโลยี Digital Twin ตัวแทนเสมือนที่ช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ CPAC Green Solution ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลใช้บริหารการจัดจำหน่ายซึ่งมีเครือข่ายใหญ่ที่สุด อาทิ ‘Prompt Plus’ แพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างสำหรับร้านค้ารายย่อยกว่า 9,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และ ‘รักเหมา’ แพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างสำหรับเจ้าของโครงการก่อสร้าง ผู้รับเหมาขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีมากกว่า 50,000 รายทั่วประเทศไทย
รวมถึงพัฒนาโซลูชันใหม่รับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต อาทิ กลุ่มนวัตกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ เช่น แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ถุงซักผ้าละลายน้ำ ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากเสื้อผ้าผู้ป่วย Smart Building Solution นวัตกรรมบริหารระบบอาคาร เพื่อปรับคุณภาพอากาศและประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยี IoT นวัตกรรมผนังสมาร์ทบอร์ด Ultra Clean Wall Solution ทำให้ห้องมีความสะอาด ปลอดเชื้อโรค ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ SCG Bi-Ionization Air Purifier ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสภายในบ้านและอาคาร ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน ช่วยลดค่าไฟ และยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโรงจอดรถ เพื่อใช้งานร่วมกับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ได้อีกด้วย
ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและวัตถุดิบ ตามภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่กำลังการซื้อเริ่มฟื้นตัวทำให้สินค้า บริการหลายรายการราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด จึงต้องเตรียมปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสร้างวินัยทางการเงินเพื่อเตรียมรับอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ทันท่วงที และการนำดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ ส่วนเอสซีจีได้เตรียมแผนธุรกิจเพื่อรองรับวิกฤตเงินเฟ้อและสร้างการเติบโตระยะยาวในแต่ละธุรกิจให้สอดคล้องกับ 3 เมกะเทรนด์
เอสซีจียังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคม ตามแนวทาง ESG มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,000 คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 คนในปี 2568 เช่น พัฒนาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ พัฒนาอาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านโครงการพลังชุมชน พัฒนาอาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ จากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี ทั้งนี้ เอสซีจียังมอบทุนการศึกษาอาชีพที่ขาดแคลนให้เยาวชนในอาเซียน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ครู รวมถึงให้ความรู้ด้านบริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เพิ่มผลผลิต มีรายได้มั่นคง นอกจากนี้ ยังได้ส่งมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด 19 ทั้งในไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่องมูลค่า 470 ล้านบาท
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 18.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 22,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลสำหรับครึ่งปีหลังในอัตราหุ้นละ 10.00 บาท
การจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 8 เมษายน 2565 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 26 เมษายน 2565 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี)
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์ โดยคาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-emptive Right) ไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโลก