ทีเส็บ เร่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับการเปิดประเทศ

ทีเส็บเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ เร่งผลิตแรงงานไมซ์คุณภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาศูนย์ธุรกิจไมซ์ขับเคลื่อนไมซ์ภูมิภาค รองรับการเปิดประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไมซ์รุ่นใหม่ทั่วประเทศ

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทีเส็บเร่งผลักดันการบูรณาการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ด้านเครือข่ายการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนไมซ์ภูมิภาค กระจายการสร้างบุคลากรไมซ์คุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรองรับการเปิดประเทศ

“ทีเส็บวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไมซ์ภูมิภาค โดยตั้งสำนักภาคประจำภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนไมซ์ทั่วประเทศ และปัจจุบันจากการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์เครือข่ายการศึกษาทุกภูมิภาค ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพิ่มเติม สามารถนำหลักสูตรไมซ์บรรจุในการเรียนการสอนแล้วทั้งสิ้น 136 แห่ง โดยระดับอุดมศึกษาจำนวน 87 แห่ง และระดับอาชีวศึกษาจำนวน 49 แห่ง อีกทั้งเปิดสาขาวิชาไมซ์ หรือ อีเวนต์จำนวน (MICE Major) 33 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตนักศึกษาไมซ์จากสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาทั่วประเทศแล้วเฉลี่ยปีละกว่า 50,000 คน นอกจากนี้ ทีเส็บต่อยอดพัฒนาสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์ธุรกิจไมซ์ ที่จะช่วยขับเคลื่อนไมซ์กระจายไปยังทั่วประเทศ การสร้างเครือข่ายการศึกษาจึงเป็นอีกกลไกหลักสำคัญ ที่จะช่วยทีเส็บเจาะตลาดไมซ์ไปยังภูมิภาคและทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงประสานงานและส่งเสริมการตลาด ร่วมกันพัฒนาศักยภาพไมซ์ทุกมิติ สร้างรายได้ สร้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านเวทีจัดงานไมซ์ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี”

ทีเส็บ เริ่มจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 6 ได้มีการยกระดับและขยายกรอบการทำงานสู่การจัดตั้งเป็นศูนย์ธุรกิจไมซ์ (MICE Business Center) ให้บริการครบวงจรแบบ One Stop Service ซึ่งขณะนี้มีทั้งสิ้น 11 ศูนย์ กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้งภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน/ตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน/ตอนล่าง และภาคใต้ เพื่อร่วมกันเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจไมซ์ในทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจไมซ์ไทยขยายการเติบโตอย่างมีรากฐานมั่นคงและยั่งยืนด้วยมาตรฐานที่แข่งขันได้ในระดับโลก

จากการสำรวจของ MPI (Meetings Professional International) Meetings Outlook: 2022 Spring Edition พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการกลับมาจัดงานในรูปแบบปกติ และร้อยละ 64 ให้ความเห็นว่าธุรกิจจะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งงบประมาณสำหรับการจัดงานจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับปริมาณการจ้างพนักงานจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากผลตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งที่ประสบปัญหาในการจัดหาพนักงานที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในไตรมาสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงอุตสาหกรรมไมซ์จะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทีเส็บจึงเร่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาองค์ความรู้ (Content Development) การพัฒนาเครือข่าย (Connection Development) และการพัฒนาสายงานอาชีพของแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานไมซ์ (Career Development) เพื่อตอบโจทย์ตลาดไมซ์นานาชาติ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติในการมุ่งเสริมการผลิตกำลังคน สมรรถะสูง ตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยทีเส็บพัฒนาการผลิตกำลังคนอาชีวะ เพื่อให้คนอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานไมซ์คุณภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มการกระจายรายได้จากกิจกรรมไมซ์และการสร้างงานไปสู่ภูมิภาค

นอกจากนี้ ทีเส็บได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการยกระดับความรู้ สร้างงานสร้างอาชีพ และทักษะใหม่ให้บุคลากรไมซ์ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วย 5 งานสำคัญ ได้แก่ งาน 13th Coach the Coaches Program for MICE Industry ยกระดับองค์ความรู้ไมซ์เบื้องต้นให้กับคณาจารย์ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน, งาน 6th MICE Career Day 2022: มหกรรมสายอาชีพไมซ์ สนับสนุนการสร้างอาชีพ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์จับคู่หางานสายไมซ์ MICE Career Platform ให้เกิดการสร้างคนสร้างงาน ระหว่างสถานประกอบการและเยาวชนนักศึกษา, งาน Young MICE Ideators 2022: Metaverse for MICE Industry 101 ปูพื้นความรู้ที่จำเป็นและสำคัญด้าน Metaverse ในอุตสาหกรรมไมซ์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงทักษะใหม่ที่เป็นหัวใจสำคัญในยุค Technology Disruption และ Skill Force หลังยุคปฏิวัติโลก, งาน Thailand MICE Youth Challenge 2022: การแข่งขันแผนธุรกิจไมซ์ระดับชาติ คัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยแข่งขันแผนธุรกิจในเวทีระดับนานาชาติ, งาน 6th MICE Academy Day 2022: มหกรรมการศึกษาไมซ์ระดับชาติ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนให้กับบุคลากรต้นน้ำ ผ่านมาตรฐานการศึกษาในสาขาไมซ์

ตลอดจน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ใน 3 ด้าน คือ 1. ความร่วมมือบูรณาการศูนย์เครือข่ายไมซ์ในภูมิภาคระหว่างทีเส็บ กับศูนย์เครือข่ายไมซ์ในภูมิภาค 11 ศูนย์ 2. ความร่วมมือโครงการตั้งศูนย์เทียบโอนหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ (Non – Degree) สู่ระบบธนาคารสะสมผลการเรียนรู้ (Credit Transfer/Credit Bank) ระหว่างทีเส็บ กับสถาบันการศึกษาไมซ์ 5 แห่ง และ 3. ความร่วมมือหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลระหว่างทีเส็บ กับสถาบันการศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา 13 แห่ง เพื่อร่วมมือพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์ให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และบูรณาการระหว่างภูมิภาคทั่วประเทศ

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ โดยไม่เพียงแค่เป็นที่ตั้งของศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ยังเป็นสถานที่จัดงานมาตรฐานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ อีกทั้งยังส่งเสริมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยเฉพาะการสอนที่เป็น Active Learning และการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ซึ่งการผลักดันให้เกิดความร่วมมือจนส่งผลให้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการศึกษาไมซ์ในภาคใต้ (Southern MICE Academic Cluster (SMAC)) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายธุรกิจไมซ์ในภูมิภาค หรือภายใต้ชื่อ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจังหวัดสงขลา (Songkhla Convention and Exhibition Bureau (SCEB)) นับเป็นการพัฒนา New Learning Platform เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกิจกรรมที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วม สามารถฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์จริงจากภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งสามารถใช้เป็นโจทย์ในการศึกษาวิจัยต่อยอดสู่องค์ความรู้ใหม่ โดยมีความสอดคล้องกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของบุคลากรไมซ์ในยุคนิวนอร์มัล

ส่วน นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มคลี่คลายมากยิ่งขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเริ่มเดินทางได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าทุกประเทศกำลัง Unlock จากสถานการณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ ในด้านของอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยนั้น มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตไม่แพ้ประเทศอื่นๆ อย่าง ดูไบ หรือ สิงคโปร์ แต่ด้วยที่ผ่านมาเราไม่ได้มีงานระดับ Regional เข้ามาในประเทศไทยเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวในกลุ่ม Business Event เองก็ดี ต่างอยากมาประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ อยู่แล้ว ทำให้ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่เราจะสามารถช่วยฟื้นฟู Local Economy ได้ด้วยอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก การเดินทาง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งตลาดไมซ์ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2562 และคาดว่าจะสูงถึง 4.2 แสนล้านบาทในปี 2570 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 11.63% จากปี 2564 ถึง 2570 และสิ่งที่บริษัทซีเอ็มโอจะทำนั้น ไม่ว่าจะเป็น Homegrown Event หรือ Business Event ภายใต้แบรนด์ของซีเอ็มโอ อย่างงาน Conference ที่นอกจากเราจะดึง Speaker ระดับโลกเข้ามาหลายร้อยคนแล้ว เรายังดึงผู้เข้าร่วมงานจากประเทศอื่นๆ เข้ามาอีกด้วย เพราะงานที่บริษัทฯ กำลังจะจัดขึ้นนั้น แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเองก็อยากจะบินเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ได้อีกด้วย

“ทีเส็บตั้งเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ด้านการศึกษา ในการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยฝึกอบรมและหน่วยทดสอบคุณวิชาชีพไมซ์ในศูนย์เครือข่ายการศึกษาไมซ์ในภูมิภาคจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสร้างงานให้บุคลากรและบัณฑิตจบใหม่อีก 5,000 คน ได้ลงปฎิบัติงานในเมืองที่มีการดึงงานเข้ามาจัดในพื้นที่ พัฒนา MICE Career Platform จับคู่สร้างงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่งงาน รวมถึงสร้างและพัฒนาเครือข่ายเยาวชนไมซ์สู่การเป็นผู้ประกอบการไมซ์รุ่นใหม่จำนวน 5,000 คน ภายในปี 2566 นี้” นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย