CPF เดินหน้าโครงการประหยัดพลังงาน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ตอกย้ำผลิตอาหารเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน (Solar Farm ) บนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และบนหลังคา (Solar Rooftop ) ตอกย้ำผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593
นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผูู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และกำหนดเป้าหมายระยะยาวด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อาทิ การดำเนินโครงการด้านประหยัดพลังงานโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโยลีที่ทันสมัยและนวัตกรรมมาใช้ในองค์กร เพื่อลดต้นทุนพลังงาน ซึ่งปีนี้ บริษัทฯได้ประกาศยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % สำหรับกิจการในประเทศไทย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มอีก 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานจากก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล 65 % พลังก๊าซชีวภาพ 33 % และพลังงานแสงอาทิตย์ 2 % ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
บริษัทฯ มีแผนเดินหน้าโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์ม และโรงงานแปรรูปอาหาร (Feed Farm Food) ซึ่งปัจจุบัน มีการดำเนินการไปแล้ว 3 เฟส โดยเฟสแรกได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน จำนวน 27 แห่ง เฟสสอง ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ 2 แห่ง และโซลาร์ ฟาร์ม 10 แห่ง รวม 12 แห่ง เฟสสาม มีแผนติดตั้งโซลาร์ ฟาร์ม บนทุ่นลอยน้ำ และบนหลังคาโรงงาน 67 แห่ง รวมการติดตั้งทั้งสามเฟส รวม 106 แห่ง จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2566 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รวม 27,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2.8 ล้านต้น และล่าสุด อยู่ระหว่างดำเนินการเฟส 4 ซึ่งมีแผนติดตั้งโซลาร์ เซลล์ อีกจำนวน 66 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2567
“โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทฯให้ความสำคัญกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งมั่นผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายพีรพงศ์ กล่าว
นายพีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ซีพีเอฟ ได้สมัครเข้าร่วมลงนามแสดงความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target Initiatives ในการตั้งเป้าหมาย Net-Zero ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ตามความตกลงปารีส ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งองค์กร Science Based Target Initiatives เป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact, World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส โดยในส่วนของซีพีเอฟ มีการตั้งคณะทำงานบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์