50 ปี การเคหะแห่งชาติ สร้างที่อยู่อาศัยกว่า 7 แสนหน่วย ปลื้มได้ 97.96 คะแนนการประเมินความโปร่งใส อันดับที่ 1 ของกระทรวง พม. อันดับที่ 5 ของรัฐวิสาหกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่อเนื่อง หนุนพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องยุคสมัย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 50 ปี การเคหะแห่งชาติ (กคช.) พร้อมแถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 และแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติ และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และจะก่อตั้งครบ 50 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 747,234 หน่วย อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการเคหะชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด โครงการเคหะข้าราชการ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการอาคารเช่า เป็นต้น นอกจากนี้ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2565 การเคหะแห่งชาติได้คะแนน 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ถือเป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. และเป็นอันดับที่ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมิน ทั้งยังได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศอีกด้วย
นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า การเคหะแห่งชาติยุคใหม่จะไม่ได้เพียงแค่สร้างที่อยู่อาศัย แต่จะดูแลคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกันด้วย มากไปกว่านั้นยังให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2570 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” พร้อมทั้งปรับเปลี่ยน Mindset ของผู้ปฏิบัติงานให้หันมาใส่ใจในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรใหม่ คือ 5 S ได้แก่ Spirit รวมพลังใจในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมไทย/Skill มุ่งแสวงหาและเพิ่มพูนความรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก/ Service ให้บริการที่ตอบโจทย์/ Speed รวดเร็ว ตรงเวลา และทันต่อสถานการณ์/ Sustainability พัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมค่านิยมที่มาจากคำว่า “HOMES” ได้แก่ Happiness to all เสริมสร้างความสุข Open to collaborate ประยุกต์ความร่วมมือ Mastering to innovate ยึดถือนวัตกรรม Efficient & Ethical process ประสิทธิภาพพร้อมคุณธรรม และ Service excellence ยกระดับการบริการ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมทั้งการสร้างมุมมอง ทัศนคติ และทักษะต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ปัจจุบัน
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานในปี 2566 จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น มีการสานต่อโครงการสำคัญไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งเป็นโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพมุ่งเน้น “มีบ้าน-มีอาชีพ-มีรายได้-มีความสุข” เป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) โดยขณะนี้ก่อสร้างโครงการนำร่องและส่งมอบพร้อมทำสัญญาเช่าให้กับผู้ได้สิทธิแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย รวมทั้งมีการจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จ โดยมีการเคหะแห่งชาติ ถือหุ้นใหญ่จำนวน 49.0% และกลุ่มผู้ถือหุ้นอีก 6 ราย ล่าสุดได้จัดทำโครงการต้นแบบบ้านเคหะสุขประชาภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา “วังน้อย” อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการบ้านเคหะสุขประชา “ลำลูกกาคลอง 12” อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และโครงการบ้านเคหะสุขประชา “ธรรมศาลา” อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และยังได้นำเสนอ รมว.พม. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใต้ พรบ.ร่วมทุน อีก 10 โครงการ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สระบุรี สระบุรี กำแพงเพชร นครสวรรค์ และระยอง
การเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัย มีโครงการบ้านเคหะสุขเกษมจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์) ซึ่งเป็นโครงการบ้านเช่ารองรับสังคมผู้สูงอายุ เน้นการออกแบบ Universal Design แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ จำนวน 90 อาคาร รวมทั้งสิ้น 3,956 หน่วย ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อีกโครงการหนึ่งคือ โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและโครงการรับคืนอาคารเช่า โดยปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการอาคารเช่าฯ 10 โครงการ พร้อมเข้าอยู่จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3) มหาสารคาม สุรินทร์ (สลักได) อุบลราชธานี นครสวรรค์2 (ระยะ 2) ลำปาง และอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ พังงา (ตะกั่วป่า) กาญจนบุรี ลพบุรี (ระยะ 1 ) สมุทรปราการ (บางพลี) อยู่ระหว่างเตรียมการบรรจุผู้เช่าใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566 นี้ ขณะที่โครงการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน เปิดโอกาสให้ผู้เช่าได้เช่าตรงกับการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – 30 กันยายน 2565 สามารถรับคืนโครงการฯ ได้ 57 สัญญา รวม 28,741 หน่วย และผู้เช่าทำสัญญาเช่าตรงกับการเคหะแห่งชาติแล้ว 11,061 หน่วย
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแต่ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารยังสามารถเข้าร่วม โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยจะมีคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) ของการเคหะแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้าโดยตรง ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – 2565 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 1,507 ราย เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป จำนวน 1,321 ราย กลุ่มเปราะบาง จำนวน 186 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อฯ 977.24 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 มีเป้าหมายให้สินเชื่อกับลูกค้า จำนวน 574 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อฯ 381.55 ล้านบาท
นายทวีพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเคหะแห่งชาติยังมีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ทั้งโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง รวมทั้งโครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) โครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ (Wellness Center) และการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ซึ่งทุกโครงการได้รับการบรรจุไว้ในแผนและกำลังเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ต้องหยุดชะงักไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแผนปฏิบัติการการเคหะแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 โครงการเชิงยุทธศาสตร์ มีจำนวน รวม 31 โครงการ
สำหรับการจัดงานวันครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี การเคหะแห่งชาติ ในวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมแสดงความยินดี การเคหะแห่งชาติของดรับของขวัญหรือกระเช้าแสดงความยินดี โดยขอรับเป็นเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สามารถบริจาคเงินภายในงาน หรือโอนเงินเข้าบัญชี “มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 020-3-045451
“50 ปีที่ผ่านมา เราสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางไปแล้วกว่า 7 แสนหน่วย เราไม่เพียงแค่สร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เราดูแลคุณภาพชีวิตของลูกบ้านการเคหะแห่งชาติไปพร้อมกันด้วย ต้องยอมรับว่าทุกโครงการทุกพื้นที่มีทั้งปัญหาและอุปสรรค หลายโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จ สองปีที่ผ่านมาแม้จะเจอกับโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมาก แต่หลายโครงการก็นับว่ามีความก้าวหน้าให้เห็นผลเชิงประจักษ์ได้ ขณะเดียวกันผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติต่างก็ปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคในทุกมิติ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีหน้าที่และภารกิจที่จะต้องเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ดังนั้นเราจะเดินหน้า สร้างบ้าน ให้คนไทยมีบ้านอยู่มากขึ้น สร้างสุข ให้สมาชิกในครอบครัวและชุมชนมีความสุขในทุกมิติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้นต่อไป” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ