คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณี “รถเมล์สาย 8 ชนรถกระบะ” สี่แยกรัชดา กทม.
เผยรถเมล์ทำประกัน “พ.ร.บ. – ภาคสมัครใจประเภท 3” ส่วนรถกระบะทำประกันภัย พ.ร.บ. เพียงอย่างเดียว ผู้บาดเจ็บทั้ง 16 ราย ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทันที
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถโดยสารประจำทาง ร่วมบริการสาย 8 เส้นทาง แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ ทะเบียน 10-9776 กรุงเทพมหานคร เกิดอุบัติเหตุชนกับรถกระบะบรรทุก ทะเบียน ณษ 892 กรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกรัชดา ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 16 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน และโรงพยาบาลลาดพร้าว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่า รถโดยสารประจำทาง ร่วมบริการสาย 8 ทะเบียน 10-9776 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ รถคันดังกล่าว ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 3 ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกจำนวน 800,000 บาทต่อคน คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาท และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร จำนวน 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน
ในส่วนของรถกระบะบรรทุก ทะเบียน ณษ 892 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 โดยไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยภาคสมัครใจแต่อย่างใด
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บทั้ง 16 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้น เจ้าหน้าที่สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ.พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย