มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย สานต่อเด็กไทยให้ได้รับโภชนาการที่ดี
มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยเผยความสำเร็จ โครงการ “ฟาร์มสุขภาพของหนู” สานต่อเด็กไทยให้ได้รับโภชนาการที่ดี ครอบคลุมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 16 แห่ง
ปัจจุบันทุพโภชนาการหรือภาวะขาดสารอาหารในเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก จากการขาดความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการและความสามารถของพ่อแม่ในการดูแลเรื่องสารอาหารที่มีประโยชน์ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงในประเทศไทยเอง
จากผลสำรวจ[1]พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นถึงร้อยละ 10.5 มีภาวะผอม ร้อยละ 5.4 มีภาวะน้ำหนักเกิน (อ้วน) ร้อยละ 8.2 และมีแนวโน้มของภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสูงขึ้น เนื่องจากทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เด็กเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้านนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมีภาวะเตี้ยถึงร้อยละ 7.2 มีภาวะผอม ร้อยละ 3.8 และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 4.9[2] ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพในระยะยาวของเด็ก
มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย จึงร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สร้างสรรค์โครงการ “ฟาร์มสุขภาพของหนู” โดยได้ดำเนินการนำร่องให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 16 แห่งในพื้นที่ จ.กาญจนบุรีและราชบุรี ในความดูแลของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 13 ค่ายพระพุทธยอดฟ้า อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนมีโภชนาการดี เด็กพัฒนาการสมวัย ศูนย์กลางฐานความรู้ ขยายความเข้มแข็งสู่ชุมชน” เพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขภาพของเด็กให้มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย
โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การเกษตรแบบผสมผสาน ขยายความรู้ไปสู่ชุมชนและครอบครัว และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการน้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นกรอบแนวคิดของการพัฒนาในการส่งเสริมด้านโภชนาการของเด็กอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โครงการฟาร์มสุขภาพของหนูแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1) ฟาร์มกูรู Farm Guru เชิญตัวแทนครูและผู้นำชุมชน 80 คน มาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโภชนาการ และศึกษาดูงานเกษตร ณ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ในเดือนตุลาคม 2561
2) ฟาร์มโรงเรียน Farm to School โรงเรียนแต่ละแห่งจัดทำแผนงานพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน มีผลผลิตที่หลากหลายได้มาตรฐานและปลอดภัย นำมาประกอบอาหารกลางวันที่มีโภชนาการครบถ้วน โดยดำเนินการตามแผนงานเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ซึ่งมูลนิธิได้มอบทุนตั้งต้นรวม 800,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ อาทิ การปลูกพืชผักเพื่อบริโภค การเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ ปลานิล การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การจัดทำบัญชีฟาร์ม บันทึกปริมาณผลผลิต รวมถึงปัญหาและผลการดำเนินการเพื่อรายงานความคืบหน้าของแผนงานต่อมูลนิธิแอมเวย์
3) ฟาร์มสุข Happy Farm จัดคาราวานลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมความสำเร็จของแต่ละโรงเรียน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 โดยมูลนิธิและอาสาสมัครนักธุรกิจแอมเวย์ คณะผู้บริหารและพนักงานกว่า 150 คนร่วมทำกิจกรรมปลูกผัก 5 สี ให้อาหารสัตว์ และให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง พร้อมมอบมอบชุดของขวัญและสื่อการเรียนรู้ด้านโภชนาการ เลี้ยงอาหารกลางวัน และจัดกิจกรรมเกมมอบความสุขและรอยยิ้มให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล พร้อมมอบทุนหมุนเวียนอีก 800,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินการตามแผนงานต่อไปในอนาคต
นายกิจธวัช ฤทธีราวี ประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เล่าว่า โครงการฟาร์มสุขภาพของหนูเป็นอีกหนึ่งในความตั้งใจของมูลนิธิแอมเวย์ที่จะส่งเสริมโภชนาการของเด็กให้ได้รับสารอาหารในสัดส่วนที่ถูกต้องและครบถ้วน ด้วยเงินสนับสนุนในโครงการทั้งสิ้น 1.6 ล้านบาท ทำให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่า 2,500 คน
“จากการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการทำให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันเด็กๆ ให้ได้รับโภชนาการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอบริโภค เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ไปจนถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและจำหน่ายผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียนเพื่อสร้างรายได้ ทำให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่หลากหลายขึ้น มีสารอาหารครบถ้วน โรงเรียนมีรายได้หมุนเวียน และเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายสู่ชุมชน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากทั้งโรงเรียน ชุมชน และครอบครัว”
จากผลการดำเนินงานตามแผนงานที่ผ่าน ด.ต.หญิงมาลินณา สังข์แก้ว ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน พูดถึงความประทับใจที่มีต่อโครงการว่า พอได้เงินทุนจากโครงการฟาร์มสุขภาพของหนูมา เราก็มีทุนทำโครงการได้มากขึ้นจากเดิมที่โรงเรียนเคยทำอยู่แล้ว เช่น จากที่เคยทำแหนมเห็ดนางฟ้าได้แค่ 1 กิโลกรัม เราก็มีเงินทุนมาทำแหนมเห็ดนางฟ้าให้เพียงพอต่อมื้ออาหารของเด็กๆ ได้
“ก่อนหน้านี้เราอาจจะทำแค่เพื่อการเรียนรู้ แต่พอเรามีเงินทุนมากขึ้นเราก็สามารถทำให้เด็กๆ บริโภคได้ทุกคน สำหรับทุนหมุนเวียนเรายังมีแผนแปรรูปอีกหลายอย่าง เช่น ปกติเราทำกล้วยฉาบ กล้วยตาก เราก็อยากพัฒนาสูตรทำกล้วยฉาบสูตรอื่นๆ อีก และจะเน้นไปที่การขยายผลสู่ชุมชน ดึงผู้ปกครองเข้ามาแปรรูปอาหารร่วมกับเด็กๆ ได้อย่างจริงจังมากขึ้นค่ะ”
ด้าน น้องดิว – ด.ญ. ธนิสา จิน้อย นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน เล่าถึงกิจกรรมที่ได้ทำระหว่างอยู่ที่โรงเรียนว่า “ปกติหนูมีหน้าที่เลี้ยงไก่ของโรงเรียนกับขายของในสหกรณ์ พอได้ไข่ไก่มาก็จะเอาไปทำอาหาร และเอาไปแปรรูปเป็นไข่เค็มไว้ให้นักเรียนในโรงเรียนกินเป็นอาหารกลางวัน และมื้ออื่นๆ สำหรับเด็กบ้านไกลที่พักอยู่ที่โรงเรียน หนูเอาความรู้นี้กลับไปทำไข่เค็มกินเองที่บ้านด้วย เพราะที่บ้านก็เลี้ยงไก่ 4-5 ตัวค่ะ”
จากความสำเร็จของโครงการฟาร์มสุขภาพของหนูในครั้งนี้ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อมอบโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆ ทุกคนจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในอนาคต
[1] ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 หรือ Thailand Indicator Cluster Survey โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ
[2] แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2569