กฟผ. คว้า 6 รางวัล SOE Awards ประจำปี 2565 ตอกย้ำบทบาทรัฐวิสาหกิจดีเด่นมุ่งพัฒนาพลังงานของประเทศด้วยนวัตกรรม
กฟผ. รับ 6 รางวัลอันทรงเกียรติ จากงานมอบรางวัล SOE Awards ประจำปี 2565 สะท้อนถึงผลการดำเนินงานขององค์การที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศด้วยนวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานใน “งานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565” ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Grow Green Balance)” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในโอกาสนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ. ร่วมรับมอบรางวัล โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจชั้นนำต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
สำหรับในปี 2565 กฟผ. ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 6 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลจากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของ สคร. หรือ State Enterprise Assessment Model: SE-AM ได้แก่ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล และรางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน สำหรับรางวัลจากการส่งเข้าประกวด ได้แก่ รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid at Sirindhorn Dam) ที่ กฟผ. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด 2 พลังงาน จากพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และนำพลังน้ำจากเขื่อนมาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงหรือในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาด ช่วยลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการบนพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. 9 แห่ง รวม 16 โครงการ
รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น (ประเภทเชิดชูเกียรติ) จากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบ Smart Energy Digital Platform สำหรับผู้ใช้พลังงานในโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม” เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในโรงงาน (Asset Management) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบของ กนอ. และพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) การเชื่อมต่อรองรับการบริหารจัดการโหลด (Demand Response) การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) และการบริหารจัดการรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicles) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ (ชมเชย) จากโครงการการบริหารจัดการพลังงาน ERC Sandbox และ ENZY Platform สำหรับรองรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า ให้สามารถติดตามและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถทราบถึงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทั้งค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ตรวจสอบค่าไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ผ่านการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือหรือไลน์ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้นำร่องการใช้งาน ENZY Platform ภายในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สุดท้าย รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม (ชมเชย) จากโครงการ “การถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือน ค้นหาแบริ่งในโรงไฟฟ้าที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น” ซึ่งเป็นโปรแกรมตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ด้วยการถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือนในการค้นหาแบริ่ง (Bearing) ในโรงไฟฟ้าที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยวางแผนการดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่จะลุกลามต่อไป ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของเครื่องจักร และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรได้หลายสิบล้านบาทต่อปี รวมไปถึงเป็นข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการเดินเครื่องและวางแผนการบำรุงรักษาที่เหมาะสมได้ล่วงหน้า