ส่องแนวทางรัฐ-เอกชนบูรณาการฐานข้อมูลจัดการฝุ่น PM 2.5 แบบยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยแพร่การประชุม “หารือร่วมรัฐเอกชนในจัดทำระบบฐานข้อมูล PM 2.5” ผ่านเฟสบุ๊คองค์กรฯ ว่าที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและระดมสมองร่วมกันของตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบดัวย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อหาแนวทางในการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน ในการกำหนดแผนการบรรเทาและการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพและเห็นผลในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม
โดยที่ประชุมมีข้อสรุปใน 5 หัวข้อหลัก เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการวางแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ คือ 1. ระบบการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่เครือซีพี พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อตรวจสอบย้อนกลับจนถึงแหล่งเพาะปลูก ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเครือฯ นำมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน สำหรับกิจการในประเทศไทย เครือซีพีสามารถจัดหาข้าวโพด 100% โดยระบุได้ว่าเป็นข้าวโพดที่มาจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ปราศจากการบุกรุกป่า โดยเกษตรกรต้องลงทะเบียนการเพาะปลูกก่อนฤดูการปลูกกับบริษัทฯ จึงจะสามารถนำผลผลิตไปขายให้กับซีพีได้ ซึ่งเกษตรกรไทยสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวยังถูกนำไปใช้กับกิจการในประเทศเมียนมาอีกด้วย
นอกจากนี้ เครือซีพี ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “For Farm” ขึ้นให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ตั้งแต่คำแนะนำและติดตามการเพาะปลูก แจ้งเตือนสภาพอากาศ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีระบบรองรับการลงทะเบียนซื้อขายข้าวโพดจากเกษตรกรโดยตรง
- GISTDA มีข้อมูลจากดาวเทียมที่สามารถวิเคราะห์จำแนกพืชแต่ละชนิด แยกตามอายุการเติมโตและสามารถระบุวันเก็บเกี่ยวได้ ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาได้ ขณะที่ ซีพี นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร หากพบว่ามีเกษตรกรเผาหลังเก็บเกี่ยว ซีพีจะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมวิธีการไถกลบแทนการเผา
- ระบบฐานข้อมูลจุดความร้อน GISTDA พบจุดความร้อน หรือ Hotspot ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบันมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าถึง 3 เท่า และส่วนใหญ่พบในบริเวณป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก เป็นต้น ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่ประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา ตามลำดับ ปัญหาการเผาหลังเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่เกษตรในพื้นที่สูง ส่วนพื้นที่เกษตรในพื้นที่ราบสามารถใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์เก็บเกี่ยวได้
- แนวทางการส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร กรมวิชาการเกษตรมีการรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ว่ามาจากแปลงไม่เผา โดยต้องสร้างแรงจูงใจในการรับรอง GAP แก่ภาคการเกษตร ไม่ซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ส่วนแรงจูงใจเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้เกษตรกรไม่เผา เช่น เรื่องตลาดคาร์บอนเครดิต การลดภาษี การประกันราคา การทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายเศษวัสดุ ส่งเสริมการหาตลาดให้แก่เกษตรกร แปลงเศษวัสดุเป็นพลังงาน ฯลฯ
- การจัดโซนนิ่ง (Zoning) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการเผาในที่สูง เช่น ปรับเปลี่ยนการปลูกกาแฟในพื้นที่สูงทดแทนการปลูกข้าวโพด เป็นต้น