แก้ปัญหาหมอกควัน อย่าให้เป็นแค่ “ลมปาก” หาเสียง สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ
ปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 เป็นทุกข์อย่างหนักของคนไทยเกือบทั้งประเทศขณะนี้ แต่กลายเป็นโอกาสของนักการเมืองที่กำลังหาเสียงได้ขายฝันปั้นนโยบายมาแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมจากประชาชน แต่ละพรรคการเมืองต่างแสดงภูมิว่ารู้ต้นตอของปัญหาและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เสนอนโยบาย-แนวปฏิบัติและดำเนินงานกันให้ดูเคร่งครัดและเด็ดขาด รวมถึงยืนยันว่าวิธีการเหล่านี้สามารถยุติปัญหาได้ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานให้คนไทยอีกครั้ง
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ฟังตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง ขึ้นเวทีที่จังหวัดเชียงราย นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 หากพรรคได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ พอสรุปเป็นแนวทางหลักๆ ที่แต่ละพรรคจะดำเนินการได้ 3 ประเด็น คือ 1.ลดการเผาหรือห้ามเผา โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ 2. เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน และ 3. ห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการเผาและดำเนินการกับบริษัทที่ส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน
มาพิจารณารายละเอียดในข้อที่ 1 ลดหรือห้ามเผาในภาคการเกษตร…แน่ใจว่าจะทำได้? เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา มีข่าวออกครึกโครมว่า “ห้ามไม่ฟัง ชาวนาอ่างทองสุดดื้อ แอบเผาตอซังข้าวกลางดึกทั้งที่มีคำสั่งห้าม ส่งผลค่าความร้อนพุ่งสูง” ถ้าพรรคการเมืองทำการบ้านมา ต้องทราบดีว่าข้อนี้ทำยากมาก และควรจะทราบอีกว่า ข้อมูลจาก GISTDA พบว่า “นาข้าว” มีการเผาตอซังมากกว่าพืชชนิดอื่น แต่ดันไปโยนให้กับข้าวโพดและอ้อย ซึ่งเผาน้อยกว่าข้าว 4-5 เท่า แต่ไม่มีพรรคการเมืองไหนแตะต้องชาวนา เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญ รวมถึงการลักลอบเผา เพื่อเก็บของป่า หาเห็ดและล่าสัตว์ของชาวบ้านโดยเฉพาะทางภาคเหนือ เป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว ยังไม่มีการพูดการแก้ปัญหาวิถีชีวิตของผู้คน.ข้อที่ 1 ขออนุมานว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ยั่งยืน
ไปต่อข้อที่ 2 การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งระดับทวิภาคีหรือพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียน ข้อนี้ขอให้นำปัจจัยทางการเมืองมาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากฝุ่นควันที่เป็นปัญหาทางภาคเหนือทุกวันนี้มาจากประเทศเมียนมา ที่รัฐบาลทหาร ปกครองชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก วิถีดั้งเดิมทางการเกษตร เช่น การเผา ยังเป็นวัฒนธรรมนิยมของชนกลุ่มน้อย ที่สำคัญไม่มีต้นทุนและทำได้ทั้งพื้นราบและที่สูง แม้จะเจรจาในกรอบ “อาเซียน” แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นคำถามว่าจะทำได้อย่างไร?
ส่วนข้อที่ 3 ที่ว่าจะห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา และบริษัททุนใหญ่ต้องรับผิดชอบ หากพรรคใดก็ตามที่กำหนดข้อนี้อยู่ในนโยบายการแก้ปัญหา ต้องลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานให้ถ่องแท้และเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะได้เก็บข้อมูลทำให้ทราบว่า รัฐบาลเมียนมาไม่ใช่ “หมู” ให้ใครมาฉวยประโยชน์จากประเทศเขาได้ง่ายๆ ต้องแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาภาคการเกษตรของเขาให้ลืมตาอ้าปากในเวทีโลกได้ไปจับเสือมือเปล่าอาจ “โดนยิงทิ้ง” ได้ ที่สำคัญพรรคการเมืองถ้ารอบรู้จริงน่าจะมีข้อมูลว่า “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทำโครงการส่งเสริมความรู้ในการปลูกข้าวโพดตามหลักวิชาการ ปลอดการเผาให้กับชาวเมียนมา โดยดึงภาคเอกชนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุม เมื่อผลิตได้แล้วก็ต้องมีตลาดรองรับ “เหมือนบ้านพี่เมืองน้อย” พรรคการเมืองน่าจะลองสร้างสรรค์โครงการแบบนี้บ้างเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน แทนการแก้เป็นหย่อมๆ
ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ หากพรรคการเมืองมองว่าปัญหาฝุ่นและหมอกควัน ส่วนหนึ่งมาจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อได้บริหารประเทศต้องคิดหาทางเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศที่ขาดอยู่ 3 ล้านตันต่อปี จะได้ไม่ต้องนำเข้าให้เกิดปัญหา และจะทำอย่างไรกับมลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลจำเป็นต้องนโนบายและแนวทางการแก้ปัญหาแบบครบวงจร เพื่อผลสัมฤทธิ์ในอนาคต ที่นำเสนอกันมาอย่าให้เป็นเพียงแค่ “ลมปาก” คนไทยอย่าเพิ่งหลงเชื่อ หากต้องพิจารณาให้รอบด้าน อย่างน้อยลองคิดว่าการ “หยุดเผา” ในนาข้าว สามารถห้ามชาวนาได้จริงหรือ?