จับตารัฐบาลใหม่ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่าให้ปากพาไป

ช่วงนี้การเมืองร้อนระอุไม่ต่างกับอุณหภูมิประเทศไทย หัวหน้าพรรคการเมืองเดินสายขึ้นเหนือ-ล่องใต้ ไปอีสาน กันคึกคัก เพื่อหาเสียงช่วยลูกพรรคเก็บคะแนน พื้นที่ไหนไม่เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องโหมกันหนัก หาจุดอ่อนและช่องว่างแทรกตัวเข้าไปให้ได้ ไม่ต่างกับการจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ทางการเมือง (Debate) ที่จัดกันถี่ช่วงนี้ คือ ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่และเชียงราย เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะได้รับผลกระทบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 วนเวียนหลายปีต่อเนื่อง พรรคการเมืองใหญ่ ได้ออกมาโชว์นโยบายแก้ปัญหากันแบบเรียกเสียงเฮ ว่ามีทางแก้ปัญหาด้วยการโยน “เผือกร้อน” ให้ “แพะ” ไป หากฟังด้วยสติจะทราบได้ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดทำการบ้านอย่างจริงจัง หาข้อมูลทางวิทยาศาตร์มาสนับสนุน และให้ข้อเท็จจริงกับคนไทย

บนเวที Debate พรรคการเมืองต่างฝ่ายพยายามโชว์ “เหนือ” จะจัดการกับกลุ่มทุนใหญ่ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันพิษอย่างเด็ดขาด จากการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านโดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศเมียนมา กล่าวหาว่า กลุ่มไม่มีมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ ที่ดียืนยันไม่ได้ว่าผลผลิตที่รับซื้อมาจากแหล่งเพาะปลูกนั้นปราศจากการเผาหรือบุกรุกป่าหรือไม่ บ้างก็จะห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน (แต่อย่าลืมแก้ปัญหาข้าวโพดในประเทศไม่พอใช้ขาดอีก 3 ล้านตัน ด้วย) บ้างก็จะต้องหารือในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทุกพรรคหาเสียงเหมือนท่องจำกันมาด้วยแนวทางที่เกือบจะลอกกันมาเป๊ะ แสดงให้เห็นว่าไม่มีพรรคใดทำการบ้านอย่างจริงจัง และพร้อมเป็นรัฐบาลที่จะขจัดปัญหาให้กับคนไทย

หากนักการเมืองไทยใฝ่รู้และจริงจังกับการแก้ปัญหา ควรศึกษาข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ที่มีการสำรวจจุดความร้อนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีมาตรฐานสากล โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 พื้นที่ 17 จังหวัดทางภาคเหนือของไทยพบตัวเลขที่คนไทยและพรรคการเมืองไม่เคยรับรู้มาก่อน ว่า จุดความร้อนที่เกิดมากที่สุดภาคเหนือ คือ พื้นที่เขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีจุดความร้อนสูงถึง 95.6% และ 78.6% ของพื้นที่ ตามด้วย ชุมชนและอื่นๆ 75.4% (จากการเผาไหม้และหุ้งหาอาหาร) ขณะที่พื้นที่การเกษตรคิดเป็น 20.8% โดยเฉพาะนาข้าว มีจุดความร้อนสูงสุดคือ 56.6% ของพื้นที่ ผิดไปจากที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าเป็นข้าวโพดและอ้อย ซึ่งค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 10% จากตัวเลขเห็นได้ว่านาข้าวมีการเผาสูงกว่าข้าวโพดและอ้อยถึง 4 เท่า

จากการสำรวจทางดาวเทียมของ GISTDA วันที่ 29 เมษายน 2566 รายงานว่า ไทยพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 513 จุด ขณะที่จุดความร้อนในเมียนมามีจำนวน 1,461 จุด, สปป.ลาว 928 จุด, เวียดนาม 125 จุด, กัมพูชา 51 จุด และมาเลเซีย 16 จุด พรรคการเมืองเคยคิดจะไปหาคำตอบเหล่านี้จาก GISTDA บางหรือไม่ หรือเพียงแต่ “มโน” เอาเอง และการที่จุดความร้อนในเมียนมายังสูงก็ควรลงพื้นที่เก็บข้อมูลบ้างว่าเกิดจากอะไร หรืออาจจะขอข้อมูลจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้อีกทางหนึ่ง เพราะอ่านพบในข่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมมือกับรัฐบาลและท้องถิ่นในรัฐฉาน ทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดตามหลักวิชาการ โดยมีภาคเอกชนไทยไปร่วมให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและแนะนำการเพาะอย่างถูกต้อง..จะได้ตาสว่าง

ที่สำคัญรัฐบาลเมียนมา เขาต้องการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในชาติเช่นกัน เมียนมาในอดีตเคยเป็นผู้ส่งข้าวออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ประเทศเขาเต็มไปด้วยทรัพยากร ถ้าเขาจะกลับมาฟื้นฟูประเทศด้านเกษตรกรรม-กสิกรรม ก็ทำได้ไม่ยาก ดังนั้นการส่งออกข้าวโพดน่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของรัฐบาล และทำทั้งทีต้องดีและถูกต้องตามหลักการสากล ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเมียนมากำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยจุดแข็งด้านสินค้าเกษตร โดยมีหลายประเทศให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุน นักวิชาการและเทคโนโลยี ทั้ง จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น พรรคการเมืองไทยไม่มีโครงการช่วยเหลือเขา ก็อย่าโจมตีเขาโดยไม่มีข้อเท็จจริง เพราะท่านอาจกำลังถูกจับตาอยู่

ไทยอาจจะได้รัฐบาลใหม่ภายในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ ก็จะขอจับตาดูว่าพรรคไหนจะมีนโยบาย “เฉียบ” ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ถาวรให้กับคนไทยโดยเฉพาะพี่น้องทางภาคเหนือ และจะทำได้ตามที่หาเสียงกันไว้อย่างครึกโครมหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่าให้เป็นการพูด “พล่อยๆ” พอให้ได้ตำแหน่งแล้วกลับเมิน อย่าให้ประวัติศาสาตร์ซ้ำร้อย ท่านควรมีหลักประกันให้กับคนไทยหากไม่ทำตามปากว่าอนุญาตให้คนไทยตีปากท่านคนละ 1 ที เป็นการชดใช้ให้กับคนไทยกับพฤติกรรมสักแต่พูดของท่าน

***”ไศลพงศ์ สุสลิลา” นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม