อพท. คว้ารางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน” ระดับดี ปี 2566

วันที่ 22 กันยายน 2566 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.  พร้อมด้วย ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. และคณะทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนของ อพท. เข้ารับประกาศนียบัตรองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ระดับดี ขององค์กรภาครัฐ ประเภทราชการส่วนกลาง จาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

ซึ่งในปี 2566 มีหน่วยงานผ่านการคัดเลือกเข้ารับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน รวม 109 องค์กร แบ่งเป็น จากองค์กรภาครัฐ 51 องค์กร และอีก 58 องค์กร มาจากองค์กรภาครัฐวิสาหกิจ องค์กรธุรกิจ องค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์กรภาคประชาสังคม โดย อพท. เป็น 1 ใน 2 องค์การมหาชน ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ โอกาสนี้ อพท. ยังได้นำผลการดำเนินงานไปร่วมจัดนิทรรศการภายในงานโดยนำเสนอบทบาท ภารกิจ ผลงานสำคัญและผลงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของ อพท. ภายในงานด้วย

ผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวว่า อพท. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยโดยใช้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก มาเป็นเครื่องมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ปฏิบัติงาน อพท. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้รับบริการ โดยหลายแผนงาน โครงการ/กิจกรรมมีผลการดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลกระทบเชิงบวกกับประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนพื้นที่พิเศษของ อพท. และได้กำหนดเป็นนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงการเข้าถึงบริการต่างๆ ของกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ ซึ่ง อพท. มีการจัดทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชันเพื่อคนพิการทางสายตา จัดทำทางลาด ที่จอดรถ ห้องนํ้าสำหรับคนพิการในพื้นที่พิเศษของ อพท. ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)

ทั้งนี้ การทำงานในปี 2566 อพท. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของ อพท. เพื่อดำเนินโครงการ/กิจกรรมมีความสอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ทั้งรายด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ และรายกลุ่มได้แก่ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ ซึ่ง อพท. ได้ให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานทุกด้านที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) ในโครงการที่ อพท. ดำเนินการ และในอนาคต อพท. ยังคงให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนกับบุคลากร อพท. ทุกระดับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อลดหรือไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของ อพท. ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเพื่อให้ อพท. เป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทองค์กรภาครัฐให้กับหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย