“น้ำตาลมะพร้าวบางแค” 25 ปี ยืนหยัดส่งความหอมหวานจากอัมพวาสู่ครัวไทย SME D Bank เติมทุนคู่ช่วยพัฒนา ต่อยอดสร้างมาตรฐาน เติบโตยั่งยืน
“น้ำตาลมะพร้าวบางแค”ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวจากอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลนานาชนิด ภายใต้เครื่องหมายการค้าต่าง ๆ เช่น ตรากุหลาบแดง ตราเจดีย์ และตราเสน่ห์อัมพวา อยู่ในตลาดธุรกิจผู้ผลิตน้ำตาลมานานกว่า 25 ปี สร้างชื่อเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของลูกค้าในหลายจังหวัด กลายเป็นวัตถุดิบใช้ประกอบอาหารคาวหวานประจำครัวเรือนไทยมายาวนาน จนปัจจุบัน สร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ตั้งที่ ต.ท่าคา อ.อัมพวา พัฒนาโรงงานผลิตได้มาตรฐานครบถ้วน พร้อมเดินหน้าต่อเพิ่มกำลังการผลิต และปรับปรุงด้านบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
แม้จะทำธุรกิจน้ำตาล แต่เส้นทางที่ผ่านมาไม่ได้เจอแต่เรื่องหอมหวาน ต้องล้มลุกคลุกคลาน ฮึดสู้ฝ่าวิกฤตมาหลายครั้ง โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการเงินที่เป็นโจทย์หิน แต่การมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยสนับสนุนการเงิน ทั้งในช่วงขยับขยายธุรกิจ ตลอดจนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต ช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้อย่างราบรื่น รวมถึงยังส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานต่างๆ รองรับการเติบโตในอนาคตอีกด้วย
น้ำตาลมะพร้าวบางแค ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากย่านบางแค กรุงเทพมหานคร แต่เป็นชื่อที่มาจาก “วัดบางแคใหญ่” ตั้งอยู่ใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดย “คุณไมตรี พันธ์พงษ์วงศ์” เติบโตมาในครอบครัวที่ทำกิจการอยู่แถววัดบางแคใหญ่ อ.อัมพวา หลังแต่งงานก็แยกครอบครัวมาทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของเขา โดยใช้ชื่อ “น้ำตาลมะพร้าวบางแค” เพื่อระลึกถึงที่มาของพวกเขานั่นเอง
“คุณไมตรี มองเห็นว่า ในโซนสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงจะทำธุรกิจน้ำตาลกับมะพร้าวกันมาก ประกอบกับส่วนตัวของคุณไมตรี ก็ชื่นชอบน้ำตาล ก็เลยยึดเป็นอาชีพ เริ่มจากซื้อมาขายไป ขับรถไปซื้อน้ำตาลมะพร้าวแล้วส่งลูกค้าตามต่างจังหวัด ทำมาสักระยะก็เริ่มศึกษากระบวนการผลิต จนสามารถผลิตสินค้าได้เอง เริ่มจากเตาเล็กๆ ลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ จนธุรกิจค่อยๆ เติบโตตามลำดับ และพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้” คุณดวงตา พันธ์พงษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลมะพร้าวบางแค จำกัด ภรรยาคู่ชีวิต คุณไมตรี บอกเล่าที่มาของธุรกิจ
การพัฒนาสินค้าของน้ำตาลมะพร้าวบางแค มองจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จากทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม ก็เริ่มพัฒนามาเป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารประเภทหลากหลายตามความต้องการของลูกค้า เช่น นำไปทำเป็นขนม อาหาร ตลอดจนกลุ่มซอส หรือน้ำจิ้ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสินค้าอยู่ 3 ตัวหลัก คือ น้ำตาลชนิดพิเศษ น้ำตาลชนิดรอง และน้ำตาลกรวด ภายใต้แบรนด์ที่แตกต่างกันไป ตามกลยุทธ์การขายในแต่ละพื้นที่
“ลูกค้าของเรามีทั้งกลุ่มที่มารับซื้อตรงจากหน้าโรงงานแล้วเอาไปขายต่อ ส่วนหนึ่งเราส่งตามร้านยี่ปั๊วในต่างจังหวัด อีกกลุ่มเป็นผู้ขายที่มาติดต่อเรา แล้วทำสัญญาค้าขายร่วมกัน โดยเราจะทำแบรนด์แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับส่งให้กับผู้ขายกลุ่มนี้เท่านั้น เพื่อให้เขาเอาไปทำตลาดในพื้นที่ของเขา ไม่ทับไลน์กับตลาดเดิมของเรา เช่น แบรนด์เสน่ห์อัมพวา ที่ส่งขายไปยังภาคอีสานเป็นหลัก ตรากุหลาบแดง กับตราเจดีย์ จะเน้นโซนภาคตะวันออกและกรุงเทพ ล่าสุดก็มีคนไปทำตลาดภาคใต้และกำลังจะส่งออกไปมาเลเซียอีกด้วย”
ข้อดีของกลยุทธ์นี้ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการทำตลาดให้กับน้ำตาลมะพร้าวบางแค เนื่องจากพวกเขาถนัดขายหน้าโรงงานและชำนาญตลาดพื้นที่โซนภาคตะวันออกเป็นหลัก ดังนั้นการได้ศักยภาพของผู้ค้าที่เชี่ยวชาญในพื้นที่อื่นๆ มาช่วย ก็จะทำให้สามารถปลดล็อคข้อจำกัดที่มีอยู่ได้ อีกทั้ง ส่งสินค้าได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ช่วยเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น
ผ่านมากว่า 25 ปี ธุรกิจน้ำตาลของพวกเขายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายมาอยู่ในพื้นที่กว่า 5 ไร่ ใน ต.ท่าคา อ.อัมพวา จากโรงงานเล็กๆ พัฒนาสู่โรงงานที่ได้มาตรฐาน เพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมได้ถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับการขยายตลาดในอนาคต สิ่งที่นำพาธุรกิจมาจนถึงวันนี้ คุณดวงตาบอกว่า เกิดจาก “คุณภาพ ราคา และการจัดการ” ตั้งแต่มุ่งเน้นคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่ดี ตรวจสอบได้ สินค้าเมื่อลูกค้านำไปใช้ ต้องเท่าเทียมคนอื่น หรือดีกว่าเท่านั้น ถ้าทำได้ด้อยกว่า ก็ต้องพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพก่อนจึงทำสินค้าออกสู่ตลาด ขณะที่ราคาต้องแข่งขันได้ ธุรกิจอยู่ได้ คนไปขายต่อก็ต้องเหลือกำไร ปิดท้ายกับการจัดการที่ดี จึงยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
แต่ตลอดการทำธุรกิจไม่ได้หอมหวานเหมือนน้ำตาล คุณดวงตาเล่าว่า กว่าจะเติบโตมา ต้องผ่านอุปสรรคปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่ขายได้น้อย ทำออกมาแล้วขายไม่ได้ บางช่วงก็ขายไม่ทัน บางครั้งเจอแข่งราคา ไหนจะวิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาในแต่ละรอบอีก เรียกว่าต้องล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง กว่าจะตั้งหลักได้ เช่นเดียวกับช่วงวิกฤตโควิด-19
“ช่วงโควิดยอดขายก็ลดลงตามสภาพ แม้สินค้าอาหารยังพอไปได้เรื่อย ๆ แต่คนส่วนหนึ่งก็ลดการกินการใช้ลง ประหยัดกันมากขึ้น ซึ่งกระทบกับรายได้ของเราในช่วงนั้นไปด้วย เราก็แก้สถานการณ์ทั้งปรับการทำงานของพนักงาน ให้สลับกันหยุดบ้าง แก้สถานการณ์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็หนักอยู่พอตัว เราก็ต้องมองหาเงินทุนเข้ามาช่วย โชคดีว่าเราเองเป็นลูกค้าของ SME D Bank อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็กู้มาเป็นเงินทุนหมุนเวียน เงินทุนค่าก่อสร้างตอนขยายโรงงาน ซึ่งพอเกิดวิกฤตก็ได้รับความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงยังได้รับการส่งเสริมให้เราเข้าสู่มาตรฐานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันโรงงานของเราก็อยู่ระหว่างพัฒนามาตรฐานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อย. GMP เป็นต้น”
การมีเงินทุนมาสนับสนุนในแต่ละช่วงจังหวะธุรกิจ ทำให้กิจการยังคงเดินหน้าไปได้ไม่สะดุด โดยคุณดวงตา ระบุแผนธุรกิจในอนาคตให้ฟังว่า ขณะนี้โรงงานใหม่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ตรงตามมาตรฐานต่างๆ เมื่อแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะยกระดับธุรกิจในหลายๆ ด้าน มีโอกาสพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ขยายตลาดไปได้กว้างขึ้น รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็อยากทำตลาดไปต่างประเทศในอนาคตด้วย