การเคหะแห่งชาติ ตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนกันยายน 2567 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,444,127 คน คิดเป็น 20.69% ของประชากรรวม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุดแบบประเทศญี่ปุ่นในอีก 10 ปีข้างหน้า เรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลจึงควรเป็นมาตรฐานของการออกแบบที่พักอาศัย เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าเทียม

จากสถิติข้อมูลผู้สูงอายุ ส่งผลให้การเคหะแห่งชาติต้องทบทวนนโยบายการสร้างที่อยู่อาศัย โดยจะเพิ่มสัดส่วนการสร้างและออกแบบที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวน 10% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด จะเพิ่มเป็น 20% ภายในปีหน้า และในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ตั้งเป้าไว้ที่ 100% เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart and Sustainable Community: SSC) ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติการมีส่วนร่วม มิติสุขภาพ และมิติสิ่งแวดล้อม รวมถึงเปิดกว้างให้ผู้ที่กำลังเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้มีโอกาสซื้อที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติอีกด้วย

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาตินำหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบที่อยู่อาศัย เพื่อคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายอย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ (Housing for All) โดยจะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น  ห้องน้ำแบบมีราวจับ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ทางลาด ทางเชื่อม ประตูบานเลื่อน ลิฟต์เพื่อรองรับผู้สูงอายุ รวมถึงพื้นที่สันทนาการ พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งส่วนของที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมภายในชุมชน

โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมในการใช้งานทุกพื้นที่ในชุมชน มีความยืดหยุ่นสำหรับคนทุกประเภท สามารถเข้าใจการใช้งานตามองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงการใช้สัญลักษณ์จะต้องเข้าใจง่ายและสอดคล้องตามมาตรฐานสากลไปในทิศทางเดียวกัน