ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2563
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2563 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.64 – 7.66 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 – 0.50 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และการส่งออกอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยวและปีใหม่
ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคา อยู่ที่ 54.85–57.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.13 – 5.60 เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลงจากการขาดแรงงานกรีดยาง ประกอบกับภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงครึ่งเดือนแรกอาจมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางของชาวสวนยางพารา รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.84 – 1.89 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.55 – 3.28 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวและส่งผลทำให้คุณภาพเชื้อแป้งในหัวมันสำปะหลังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนเพื่อนำไปใช้ผลิตเอทานอลทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูงและมีปริมาณสต็อกคงเหลือลดลง
กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 136.25 – 137.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.18 – 0.74 เนื่องจากความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวตามมาตรการวันหยุด และเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากอากาศที่เริ่มเย็นลงทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยงจากราคากุ้งโลกกดดันราคาในประเทศให้ลดลง
และสุกร ราคาอยู่ที่ 76.65 – 76.70 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.59–1.66 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ผนวกกับใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุดและการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ทำให้คนไทยเริ่มออกมาใช้จ่ายรวมถึงการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสุกรเพิ่มขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,959 – 8,024 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.03-3.97 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,103 – 9,346 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 9.11-11.48 และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,839 – 9,952 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.03 – 3.14 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี โดยผลผลิตปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา และโรงสีบางแห่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือปัญหาขาดทุน ทำให้ชะลอหรือหยุดการรับซื้อข้าวจากชาวนา ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันราคาส่งออกข้าวไทยลดลง
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา อยู่ที่ 15.06 – 15.12 เซนต์/ปอนด์ (10.12 – 10.16 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 1.00 เนื่องจากค่าเงินเรียลบราซิลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ กระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของบราซิลส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น และบราซิลได้เพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเป็นร้อยละ 63 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ แนวโน้มการผลิตและการส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินเดียยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาล
โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียในปีการผลิต 2563/64 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 หรือคิดเป็น 33.76 ล้านตัน และการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 หรือคิดเป็น 6.0 ล้านตัน และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.00 – 6.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 8.89 – 11.11 เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ โรงงานสกัดจึงรับซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำลง