นวัตกรรมทันตกรรมประดิษฐ์ เพิ่มทางเลือกในการรักษา เติมเต็มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

ใบหน้าเป็นที่รวมส่วนประกอบของหลายอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เพราะชีวิตประจำวันจะต้องพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก การที่ประสบปัญหาการสูญเสียอวัยวะแต่กำเนิด หรือมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคต่างๆ จนต้องตัดบางอวัยวะออกไป  ย่อมส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจที่จะหายตามไปด้วย

รพ.กรุงเทพ เพิ่มทางเลือกในการรักษาทันตกรรมประดิษฐ์ขากรรไกรและใบหน้า (Maxillofacial Prosthesis) เพื่อช่วยเติมเต็มสิ่งที่หายไปบนใบหน้าช่วยประดิษฐ์หรือสร้างอวัยวะเทียมให้กับผู้ป่วย เพื่อคุณภาพชีวิตให้กลับมาดีขึ้น ได้อวัยวะที่ใกล้เคียงของเดิม

 

ทพญ.สุชาดา ก้องเกียรติกมล ทันตแพทย์ด้านทันตกรรมประดิษฐ์ สาขาบูรณะช่องปากและใบหน้า รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ทันตกรรมประดิษฐ์ขากรรไกรและใบหน้า Maxillofacial Surgery เป็นสาขาหนึ่งของทันตแพทย์ ที่มีการใช้องค์ความรู้หลากหลายด้านเพื่อประดิษฐ์หรือสร้างอวัยวะเทียม ช่วยการแก้ไขความผิดปกติที่เกี่ยวกับขากรรไกร ใบหน้า และช่องปาก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียอวัยวะบริเวณใบหน้ากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น อวัยวะเทียมภายในช่องปาก (Intraoral) จะคำนึงถึงการใช้งานเป็นสำคัญ ได้แก่ การพูด การออกเสียง การกลืน การเคี้ยว โดยทำเพดานเทียม อุปกรณ์ช่วยกลืน อุปกรณ์ช่วยออกเสียง ฯลฯ  วัสดุที่ใช้เป็นอะคริลิกเพื่อความทนทาน โดยในการรักษาจะมีการพิมพ์ปากทั้งด้านในและด้านนอก มีการใช้เทคนิคและขั้นตอนต่างจากอวัยวะเทียมภายนอกช่องปาก กระบวนการทำมีความซับซ้อนมากกว่า ใช้ระยะเวลาในการทำอวัยวะเทียมบริเวณนี้ประมาณ 1 เดือน

ขณะที่การรักษาอวัยวะเทียมภายนอกช่องปาก (Extraoral) คำนึงถึงความสวยงามเป็นสำคัญ และต้องดูเป็นธรรมชาติทั้งขนาด สี และรูปร่าง วัสดุที่ใช้จะเป็นซิลิโคนที่มีความยืดหยุ่น กระบวนการทำไม่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เช่น ตา เบ้าตา จมูก หู ไปจนถึงกะโหลกเทียม ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงการประดิษฐ์อวัยวะส่วนต่างๆ อาทิ มือ นิ้วมือ เป็นต้น แต่ไม่รวมแขนหรือขาเทียม  ใช้ระยะเวลาในการทำอวัยวะเทียมบริเวณนี้ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์

 

ทพ.องอาจ พุฒิพิสิฐเชฐ  ทันตแพทย์ด้านทันตกรรมประดิษฐ์ สาขาบูรณะช่องปากและใบหน้า รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เบื้องต้นแพทย์ต้องทำความเข้าใจคนไข้ก่อนถึงขั้นตอนในการทำ จากนั้นจึงเริ่ม 1) ทำพิมพ์อวัยวะที่หายไปบนใบหน้า หรือพิมพ์ภายในและภายนอกช่องปาก 2) ใส่ถาดพิมพ์ลงไปในบริเวณที่อวัยวะหายไป เมื่อวัสดุพิมพ์แข็งให้ดึงออกมา อาจมีการวัดขนาดเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับอวัยวะส่วนนั้นๆ เพื่อนำไปดูรายละเอียดให้ตรงกัน 3) ทันตแพทย์ทำการสร้างสรรค์ปรับแต่งอวัยวะเทียมบนใบหน้าให้สวยงามเสมือนจริงและขนาดตรงกับอวัยวะของผู้ป่วย

4) ทันตแพทย์ทำการนัดผู้ป่วยมาใส่อวัยวะเทียม ให้คนไข้ได้ลองและเทียบดูว่าเมื่ออวัยวะเทียมไปอยู่บนตัวคนไข้จริงๆ แล้วจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อให้โดยรวมทุกอย่างออกมาดีและเหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด ทั้งนี้ คนไข้ควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาอวัยวะเทียมบนใบหน้าและช่องปากด้วยการทำความสะอาดให้ถูกวิธี ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะเกี่ยวข้องอายุการใช้งาน และควรพบทันตแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามตรวจเช็กอวัยวะเทียมบนใบหน้าและช่องปากอยู่เสมอ

ประโยชน์ของอวัยวะเทียม คือการช่วยฟื้นฟูบูรณะ ช่วยเรื่องของความสวยงาม สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตของคนไข้ให้กลับมา และคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไข้ ขณะเดียวกันความยากของการรักษา (Maxillofacial Surgery) คือ รายละเอียดทุกส่วนบนใบหน้าล้วนมีความสำคัญ ฟังก์ชันต่างๆ ที่ต้องทำให้ผู้ป่วยใช้งานได้ใกล้เคียงเดิมและมีความสวยงามมากที่สุด

 

ทันตกรรมประดิษฐ์รพ.กรุงเทพ
Comments (0)
Add Comment