ครบรอบ 10 ปี “เพื่อนชุมชน” ประกาศความร่วมมือเพื่อชุมชนมีสุข สร้างต้นแบบพัฒนา ระยอง สู่ความยั่งยืน
“สมาคมเพื่อนชุมชน” ขับเคลื่อนมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (MTP) ครบรอบ 10 ปี พัฒนาภาคีเครือข่าย ต้นแบบความร่วมมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Collaborative Model) ภาครัฐ และชุมชน ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน ชูโมเดลความสำเร็จโรงงานและชุมชนเชิงนิเวศ ตั้งเป้าขึ้นชั้นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 5 ต้นแบบของไทย พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ขยายผลสู่พื้นที่พัฒนาอีอีซี
นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยในการแถลงข่าวครบรอบ 10 ปี สมาคมเพื่อนชุมชน (วันนี้ 26 พ.ย. 63) ว่า สมาคมเพื่อนชุมชน (CPA) ก่อตั้งจากความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (MTP) โดยการริเริ่มของ 5 บริษัท (กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี ดาวประเทศไทย และโกลว์/GPSC) ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 17 กลุ่มบริษัท
สมาคมฯ มีเป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตชุมชนให้อยู่ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างมีความสุข ซึ่งการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 10 ในปีนี้ (พ.ศ. 2563) นับเป็นสิ่งพิสูจน์ความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน เป็น “Collaborative Model” ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป สมาคมฯ ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งคือมุ่งสร้าง “บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในจังหวัดระยองซึ่งเป็นบ้านของเรา โดยมีเป้าหมายความร่วมมือดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในระดับสูงสุด หรือ ระดับ “Happiness” เพื่อให้ระยองเป็นเมืองต้นแบบ “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ของประเทศไทย
นายวริทธิ์ ชี้แจงการดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชนตลอด 10 ปี โดยมีโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ในด้านการศึกษาและสุขภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่าน 10 โครงการสำคัญ ได้แก่
1. โครงการ Eco Industrial Town : จาก Eco Factory สู่ บ้าน วัด โรงเรียน ตำบล เชิงนิเวศ ความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยรูปแบบ เพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้ 76 โรงงาน ในกลุ่มสมาชิกได้ผ่านการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ครบ100% ในปี 2562 สมาคมฯ ได้ขยายความร่วมมือกับชุมชน โดยพัฒนา ชุมชน โรงเรียน วัด ตำบลเชิงนิเวศ
- ชุมชนเชิงนิเวศต้นแบบ (Eco Community) ที่ชุมชนเกาะกก ตั้งอยู่ในเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง
- โรงเรียนเชิงนิเวศต้นแบบ (Eco School) มีโรงเรียนนำร่อง คือ โรงเรียนวัดกรอกยายชา วัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) มีทั้งหมด 21 วัด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 โดยปัจจุบัน มีวัดเชิงนิเวศนำร่องไปแล้วจำนวน 8 วัด อาทิ วัดตะเคียนทอง วัดกรอกยายชา วัดหนองสนม วัดเขาไผ่วัดโขดหิน วัดหนองแฟบ วัดตากวน วัดห้วยโป่ง และปี พ.ศ.2562 ได้ขยายผลเพิ่มอีก 13 วัด
- ตำบลเชิงนิเวศ (Eco City) คือ ตำบลเนินพระ เป็นต้นแบบ ตำบลเชิงนิเวศ
2. โครงการทุนพยาบาลเพื่อนชุมชน สมาคมฯ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนทุนการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ ให้แก่เยาวชนในพื้นที่ โดยเริ่มให้ทุนรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี 2554
3. โครงการบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบัน มีบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ 9 แห่งในจังหวัดระยอง ที่สำเร็จจากทุนพยาบาลเพื่อนชุมชน จำนวนมากกว่า 400 คน ทำให้ชุมชน ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีมากขึ้o
4. โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อนชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ห่างไกลโรงพยาบาล
5. โครงการการพัฒนาศักยภาพ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) โดยสมาคมฯ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดระยอง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ อสม. ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เพื่อให้ อสม. มีความรู้ มีความพร้อมที่จะไปช่วยดูแลชุมชน ครอบคลุม 6 ตำบล มีจำนวน อสม. ร่วมอบรมแล้ว ประมาณ 2,000 คน
6. โครงการเพื่อนชุมชนติวเตอร์ เป็นการทบทวนความรู้ให้นักเรียน ม.6 ในจังหวัดระยอง ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลให้นักเรียน ได้คะแนน O-NET ติด 5 ลำดับแรกของประเทศ และในปีที่ผ่านมา พ.ศ.2562 พัฒนาขึ้นได้ลำดับที่ 3 ของประเทศ
7. โครงการทุนปริญญาตรีและทุนอาชีวศึกษาเพื่อนชุมชน เปิดโอกาสทางด้านการศึกษาให้เยาวชนในจังหวัดระยอง เมื่อเรียนจบแล้ว ได้กลับมาทำงานในจังหวัดบ้านเกิด ได้ดูแลครอบครัว และมีอาชีพ มีรายได้ เริ่มตั้งแต่ ปี 2554-ปัจจุบัน
8. โครงการพัฒนาศักยภาพครูแนะแนว เป็นการพัฒนาให้ครูแนะแนวในจังหวัดระยอง มีความรู้ ความเข้าใจ แนวโน้มสาขาอาชีพในอนาคต สามารถชี้แนะแนวทางที่เหมาะสมกับนักเรียนได้ถูกต้อง
9. โครงการแผนฉุกเฉินชุมชนและเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก สมาคมฯ ร่วมกับเทศบาล และชุมชนในพื้นที่มีการจัดทำแผนฉุกเฉินชุมชน และมีเครือข่ายเฝ้าระวังสิงแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างสภาพแวดล้อมให้แก่ชุมชน
10. โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ตามโครงการ “เพื่อนชุมชน x ธรรมศาสตร์โมเดล” โครงการนี้ ได้นำภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชุมชน มาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีวิสาหกิจชุมชน จากการพัฒนาจำนวน 38 กลุ่ม สร้างรายได้รวมในช่วงเวลา 5 ปี มากกว่า 50 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2562 โครงการ “เพื่อนชุมชน x ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้รับรางวัลด้านระบบนิเวศของวิสาหกิจชุมชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก EFMD (European Foundation for Management Development) เป็นรางวัลระดับโลกที่เราภูมิใจ
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาในจังหวัดระยอง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยอาศัยพื้นที่ต้นแบบ (Model) ที่ทางสมาคมฯ ได้พัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ชุมชนเชิงนิเวศ โรงเรียนเชิงนิเวศ และ วัดเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ หรือให้คำแนะนำแบบเพื่อนช่วยเพื่อนสู่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นต้น ตลอดจนเปิดให้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบ สำหรับองค์กร และหน่วยงานที่สนใจ
“การจัดงานครบรอบ 10 ปีสมาคมเพื่อนชุมชน ครั้งนี้ ได้เปิดให้ชุมชนที่ร่วมโครงการ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” มากกว่า 20 ชุมชน นำผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนมาร่วมจัดจำหน่าย และนำเสนอความน่าสนใจของสินค้า โดยโครงการ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง” นายวริทธิ์ กล่าว