ชวนแอ่วเหนือ ชม 15 ไฮไลต์งานดีไซน์ ใน “Chiang Mai Design Week 2023” 2-10 ธันวาคมนี้

หากนึกถึงเชียงใหม่ หลายคนคงนึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขา แม่น้ำลำธาร รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั้ง วัด อาคารบ้านเรือนทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม อาหารเหนือ และร้านกาแฟสุดชิค อันเป็นหมุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือนเชียงใหม่ เมืองที่ไม่เคยหลับใหล และเต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรม โดยในสิ้นปีนี้ CEA จะจัด “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” (CMDW2023) ในระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ย่านช้างม่อย-ท่าแพ ย่านกลางเวียง (พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา – ล่ามช้าง) และพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ ย่านหางดง – De Siam Antiques Chiangmai, ย่านสันกำแพง – MAIIAM  Contemporary Art Museum ฯลฯ ให้เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญด้านงานออกแบบประจำภูมิภาคเหนือ พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้าน ‘Creative Tourism Festival’ ในระดับสากล

การเดินทางของเทศกาลฯ กับขวบปีที่ 9 ที่สะท้อนดีเอ็นเองานออกแบบของเชียงใหม่

เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) นับเป็นเทศกาลพี่ใหญ่ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 (ตั้งแต่ปี 2557 – 2566) ในตระกูลเทศกาลงานออกแบบประจำปี (Design Festivals) ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA โดยในปีนี้เทศกาลฯ นำเสนอแนวคิด ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ชวนเหล่าคนคืนถิ่น ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ นักพัฒนาเมือง ผู้ประกอบการรุ่นเก๋า/รุ่นใหม่ และชุมชนในพื้นที่ ได้มามีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ให้เป็นพื้นที่สำหรับนำเสนอ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงทุกแรงบันดาลใจ และไอเดีย ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนเติมเต็มโอกาสการทางแข่งขันด้วยโปรแกรมสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ควบคู่ผลักดันศักยภาพท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับ ผ่านการจัดกิจกรรมกว่า 200 โปรแกรม ที่สะท้อนศักยภาพด้านงาน

ออกแบบของเชียงใหม่ ผ่านสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารท้องถิ่น (Local Food) งานคราฟต์ (Craft) งานออกแบบ (Design) และดนตรี (Music) ผ่านการนำเสนอ 3 คอนเซ็ปต์ ที่ตอบโจทย์ดีเอ็นเองานออกแบบของเชียงใหม่ ดังนี้

  1. เชียงใหม่คืนถิ่น (Homecoming) พื้นที่แสดงศักยภาพอันโดดเด่นของคนรุ่นใหม่ และนักสร้างสรรค์ ผ่านการจัดแสดงและอีเวนต์ที่รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหลากหลายวงการ พร้อมชวนตั้งคำถามว่า เราจะต่อยอดเชียงใหม่ให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร?
  • นิทรรศการหัตถกรรมร่วมรุุ่น (Everyday Contem) โดย กลุ่มนักสร้างสรรค์คืนถิ่น (Homecoming) และ สล่า/ช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ชวนให้ผู้ชมได้ร่วมค้นหาแนวทางในการอยู่รอดและเติบโตของงานหัตถกรรม ผ่านเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ถูก

พัฒนาใหม่ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ โดยนำเทคนิคงานหัตถกรรมของภาคเหนือ เช่น เครื่องเขิน งานจักสาน งานแกะสลักไม้ ฯลฯ มาต่อยอดเป็นสิ่งของเครื่องใช้ โดยยังคงเทคนิคดั้งเดิมไว้เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ และสืบทอดทักษะภูมิปัญญาโบราณของช่างฝีมือท้องถิ่น

สถานที่: ห้องนิทรรศการ, TCDC เชียงใหม่

  • นิทรรศการสร้าง ผ่าน ซ่อม (Persona of Things) โดย กลุ่มนักสร้างสรรค์คืนถิ่น (Homecoming) และ สล่า/ช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ นิทรรศการที่นำเสนอวิธีการใช้ทักษะฝีมือจากงานหัตถกรรม มาซ่อมแซมสิ่งของใช้แล้วต่าง ๆ ที่มีร่องรอยของความเสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง พร้อมเพิ่มมูลค่าและคุณค่าใหม่ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวในอดีตและการเดินทางของวัตถุแต่ละชิ้น

สถานที่: ชั้น 2, โกดังมัทนา

  • Flavourscape นิทรรศการที่ชวนตั้งคำถามกับผู้เข้าชมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับผู้คนในภูมิศาสตร์ของชนบทและชุมชนเมือง ผ่านอาหารที่ไม่มีอยู่จริง ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘รีคอมมอนนิ่ง’ (Re-Commoning) ผ่านกิจกรรม Interactive ให้ทดลองปรับ สลับ จับคู่ อาหารกับภูมิศาสตร์ และสำรวจผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนััน

สถานที่: ธน-อาคาร

  • Transforming Local นิทรรศการที่ชวนสำรวจปรากฏการณ์การเลือนหายไปของบทบาทและอัตลักษณ์ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมวัฒนธรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมสมัยใหม่ (Modernization) โดยนำเสนอผ่านผลงานประติมากรรมจัดวางที่ผสมผสานแนวคิด Memento Mori ในการปรับเปลี่ยนมุมมองของงานหัตถกรรมแกะสลักไม้ดั้งเดิม เพื่อ

เป็นการสะท้อนสภาวะของงานหัตถกรรมในปัจจุบัน และสื่อสารประเด็นของการรื้อฟื้นคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญา

สถานที่: ห้องประชุม 1, TCDC เชียงใหม่

  • Colour Lives: Furniture Exhibition by Suwan Kongkhunthian โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบชั้นครู ร่วมกับ คาล์ม วิลเลจ นำเสนอเก้าอี้จากฝีมืองานหัตถกรรมอย่างสร้างสรรค์ เปรียบเสมือน “การแต่งตัวให้กับเก้าอี้” ที่ศิลปินใช้สีสันแต่งแต้มอัตลักษณ์และเติมเต็มชีวิตให้กับผลงานแต่ละชิ้นจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ผ่านประสบการณ์กว่า 30 ปี ของความศรัทธาในการสืบสานงานหัตถกรรมให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์เราต่อไปอย่างมีความหมาย อยู่เหนือกาลเวลา

สถานที่: คาล์ม วิลเลจ

  1. ท้องถิ่นเชียงใหม่ยั่งยืน (Local Sustainable Living) พื้นที่ทดลองแนวคิดการพัฒนาต้นแบบย่านสร้างสรรค์แห่งแรกในภูมิภาคเหนือ ‘ย่านช้างม่อย-ท่าแพ’ และ‘ย่านกลางเวียง’ (ล่ามช้าง) ต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ไม่ถูกแช่แข็ง แต่สามารถปรับเปลี่ยนตามบริบทได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • Sweet n Sour Canteen อีเวนต์จากเครือข่าย Slow Food ที่ใช้วัตถุดิบและพืชพื้นถิ่น (Local Ingredients) มารังสรรค์เมนูผ่านวัตถุดิบออร์แกนิก และพิเศษ! ทดลองใช้เครื่องปรุง เช่น “สิหมะ” ผลไม้รสเปรี้ยวที่เป็นเครื่องปรุงหลักท้องถิ่นของพี่น้องอาข่าและปกาเกอะญอ และ “น้ำผึ้งป่า” ที่ให้รสหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมเรียนรู้กระบวนการทำอาหารที่พิถีพิถัน ไขข้อสงสัยว่ากินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งพาสำรวจการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนและธรรมชาติ

สถานที่: TCDC เชียงใหม่

  • Long Table (เปรี้ยว ๆ หวาน ๆ) พบกับการจับคู่เมนูอาหารและเครื่องดื่มสุดพิเศษที่สร้างสรรค์มาเพื่อเทศกาลฯ ให้มาลิ้มลองรสชาติจาก 5 จานอาหารท้องถิ่นที่ถูกคัดสรรมาว่าคู่ควรกับ 7 เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมจาก “สิหมะ” ผลไม้รสเปรี้ยว และ “น้ำผึ้งป่า” ให้รสหอมหวานหวานเป็นเอกลักษณ์ ร่วมค้นหาว่า อะไร? คือเคล็ดลับของความอร่อยในจานจากมื้ออาหารนี้ ในวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2566 เวลา 00 – 19.30 น.

สถานที่: TCDC เชียงใหม่

  • Vernacular Charm (เสน่ห์พื้นถิ่น) โดย บริษัท สถาปนิก 49 (เชียงใหม่) ที่บอกเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของกลุ่มสถาปนิกระดับปรมาจารย์ในยุค 1990 ที่ “ปลุกกระแส” การทำงานแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น จนนำมาสู่แนวคิด “Local Wisdom” ซึ่งกลายมาเป็นปรัชญาสำคัญในทุกมิติของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัส วัสดุ การใช้ที่ว่าง รวมถึงบรรยากาศของงานสถาปัตยกรรมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของ “เสน่ห์พื้นถิ่น” นิทรรศการฯ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ ในการสืบทอดคุณค่าของภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นต่อไป

สถานที่: ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

  1. โอกาส ใหม่ของ เชียงใหม่’ (New Opportunities) เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) / ธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับเมือง
  • CMDW x Mango Art Festival แพลตฟอร์มแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติประจำปี ภายใต้ธีม ‘TREASURE DISCOVERED 2023’ จากศิลปิน 18 ท่าน จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดพิษณุโลก ที่นำเสนอบริบทและมุมมองใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน บนพื้นที่ Creative Space แห่งใหม่ หลองข้าวไม้โบราณ และเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่นับหมื่นชิ้น ณ De Siam Antiques Chiangmai
  • Audio Video Installation Art by Bor.Vor ผลงานจากทีม ก.บ.ว. Visual Mapping ของเมืองไทยที่จะมาสร้างสรรค์ผลงานสุดจัดจ้านในย่านช้างม่อย เติมเต็มบรรยากาศย่านสร้างสรรค์ภายใต้โจทย์ที่ท้าทาย และชวนให้ระลึกถึงบรรยายกาศห้องแถวการค้าในอดีต กับโปรเจกต์ที่เรียกว่า ‘แฝดห้า’ กิจกรรม Visual Mapping นี้สามารถเข้าร่วมได้ตลอดทั้งวัน

สถานที่ : ห้องแถวห้าห้อง ถ.ราชวงศ์ ซอย 1

  • Labb Fest 2023 การแสดงดนตรีสด Live Performance จากศิลปินไทยและต่างชาติ ที่ผสมผสานระหว่างเสียงดนตรีและภาพเคลื่อนไหวในพื้นที่ลานสเก็ตบอร์ดของเมืองเชียงใหม่ และพิเศษสำหรับปี 2023 พบกับการ Live Steam ผ่าน Metaverse ที่สามารถให้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาชมและมีปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนได้ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2566

สถานที่: Club Carving CNX

  • นิทรรศการ Unveiling Objects ที่จะเผยมุมมองของศิลปินที่เป็นที่รู้จักในมิติที่ต่างไป ผ่านการเล่าเรื่องราวจากวัตถุทางศิลปะที่เป็นชิ้นงานส่วนตัว หรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานศิลปะและเรื่องราวรอบตัวของพวกเขา รวมถึงชิ้นงานสะสมส่วนตัวของคุณ Jean-Michel Beurdeley (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง MAIIAM) ผ่านบทสนทนาด้านการออกแบบและประวัติศาสตร์ศิลปะในแง่มุมต่าง ๆ กระตุ้นให้สร้างคำถามในช่วงเวลาที่นิยามความหมายของศิลปะและออกแบบ มีความหลากหลายและเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

สถานที่: MAIIAM Contemporary Art Museum ย่านสันกำแพง

  • POP Market ตลาดที่รวบรวมร้านค้างานหัตถกรรมคัดสรรคุณภาพ งานดีไซน์ที่มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม ที่คัดมากว่า 110 ร้านค้า ภายในตลาดยังเปิดพื้นที่การแสดงออก ให้กับศิลปิน นักแสดงและนักดนตรี ทั้งระดับมืออาชีพและหน้าใหม่ด้วย

สถานที่: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

  • Chiang Mai Busking อีเวนต์ “เชียงใหม่เปิดหมวก” กับแนวคิด ‘On The Original Street, Let’s join’ ชวนผู้คนและนักท่องเที่ยวในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการแสดงดนตรีกับนักดนตรีด้วยการสร้างบทสนทนาถึงเชียงใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง ในวันที่ 7 – 10 ธันวาคม 2566

สถานที่: ย่านช้างม่อยและล่ามช้าง

  • Lamchang International Film เทศกาลฉายภาพยนตร์นานาชาติ จากประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และไทย ท่ามกลางบรรยากาศของวัดโบราณ ที่ชวนหวนให้นึกถึงจุดศูนย์รวมของชุมชนในสมัยก่อน ที่ไม่ได้จำกัดแค่เข้าวัด ‘ทำบุญ’ แต่ยังเข้าวัด ‘ดูหนัง’ ได้ด้วย! ในวันที่ 7 – 10 ธันวาคม 2566

สถานที่: วัดล่ามช้าง

มาร่วม ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโตไปกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” (CMDW2023) ตั้งแต่วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 เวลา: 10.00 – 20.00 . ณ ย่านช้างม่อยท่าแพ ย่านกลางเวียง (POP Market พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น ล่ามช้าง)และพื้นที่อื่น ๆ เช่น ย่านหางดง – De Siam Antiques Chiangmai, ย่านสันกำแพง – MAIIAM Contemporary Art Museum ฯลฯ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.chiangmaidesignweek.com หรือ Facebook: Chiang Mai Design Week