ไทยเบฟขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่ม”) เผยแผนงาน PASSION 2030 ซึ่งต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มในการเสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร พร้อมทั้งวางเป้าหมายและแผนการเติบโตในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth)

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะแถลงว่าเรามีความคืบหน้าที่ดีในการสรรสร้างความสามารถ เสริมแกร่งตำแหน่งในตลาดและตราสินค้าของเรา รวมทั้งนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจของเรา แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย โดยความทุ่มเทร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มไทยเบฟทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ตามพันธกิจขององค์กร ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า

การกระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively)

กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อ ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งที่พร้อมแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพ

ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)

กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมดร้อยละ 28.78 ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ร้อยละ 41.30 ให้แก่ IBIL

ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.61 โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม  217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

ธุรกิจสุรา

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม กล่าวว่า 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจสุรามีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 จากปีที่แล้ว และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ดี การชะลอตัวในประเทศไทยถูกชดเชยได้บางส่วนจากธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากปีก่อน ทั้งรายได้จากการขายและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA)

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทยเบฟคือการทำให้สุราพรีเมียมของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอสุราที่มีคุณภาพระดับสากลผ่านตราสินค้าหลักอย่าง แสงโสม แม่โขง พระยา รัม และรวงข้าว สยาม แซฟไฟร์ และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นดังกล่าว ไทยเบฟได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราระดับพรีเมียมผ่านการเปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งจะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มตราสินค้าหลักในการขับเคลื่อนสุราระดับพรีเมียมของไทยสู่เวทีระดับโลก

สำหรับตลาดต่างประเทศ ไทยเบฟเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้และรัมระดับพรีเมียมจากไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและยังครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศไว้ได้แม้จะมีความท้าทายในตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจสุรายังยึดมั่นดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ การนำผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นแอลกอฮอล์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการล้างขวดแก้วใหม่โดยใช้เครื่องล้างแบบหมุน ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถประหยัดน้ำในการทำความสะอาดขวดได้

ธุรกิจเบียร์

นายไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีปริมาณขายที่เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์ของเรา”

กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นโอสาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ของธุรกิจเบียร์เติบโตอย่างน่าพอใจที่ร้อยละ 10.2 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็น 93,793 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตมีที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 2.9 ก็ตาม

ธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย

นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า “เรายังคงมุ่งเน้นการผลักดันตราสินค้าหลักของเราอย่างเบียร์ช้างสู่การเป็นอันดับหนึ่งในตลาดประเทศไทย โดยกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 6 ประการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเรา”

กลยุทธ์หลัก 6 ประการ ประกอบด้วย

  • เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ (Strengthen Leadership) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างยั่งยืน เพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และสร้างความตื่นเต้นผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางที่หลากหลาย
  • ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Portfolio Premiumization) ผ่านการพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งช้างโคลด์บรูว์ เฟเดอร์บรอย และช้าง อันพาสเจอไรซ์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการขาย พัฒนาแผนการตลาด และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational Excellence) จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกในกระบวนการจัดซื้อ การผลิต และห่วงโซ่คุณค่า
  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Technological Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกด้านของการดำเนินงานและกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและดียิ่งขึ้น
  • การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล (People Investment) โดยมุ่งเน้นสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ การสร้างโอกาสให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น การพัฒนาทักษะใหม่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
  • ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability) โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งยังยึดมั่นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม

นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาเบโก้ กล่าวว่า “Bia Saigon ยังคงเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม โดยเรายังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองสำคัญต่าง ๆ ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างอย่างใกล้ชิดภายในของทีมการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำและผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence) ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)”

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของกลุ่มมีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม

นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “เราได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เรามั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ตราสินค้าและการเข้าถึง ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน

ธุรกิจอาหาร

ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เทียบจากปีก่อน อันเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 0.6 เป็น 1,438 ล้านบาทเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารที่ดีขึ้นเกิดจาก 4 เสาหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่ 1.การขยายสาขาใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ และพัฒนารูปแบบร้านใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับทำเลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย 2.การกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิมผ่านการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของแบรนด์ต่าง ๆ โดยโออิชิได้ฉลองครบรอบการก่อตั้ง 25 ปี ด้วยการเปิดตัวแคมเปญร่วมกับ 10 เชฟชื่อดังของประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นตลอดทั้งปี 2567 3.การเสริมแกร่งพื้นฐานธุรกิจด้วยการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของพนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานด้วยการจัดสรรจำนวนพนักงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามระบบวิเคราะห์การจัดการแรงงาน (labor matrix system) การลงทุนในระบบดิจิทัลต่าง ๆ เช่น ตู้จำหน่ายอาหารดิจิทัล และเครื่องมือในการสร้างรายงานสรุปภาพรวมของการดำเนินงาน (operational dashboards) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและประสบการณ์การสั่งอาหารของลูกค้า ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการผนึกกำลังภายในกลุ่มเพื่อควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ 4.การพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่น ส่งเสริมไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งผ่านโครงการต่าง ๆ สนับสนุนชุมชนโดยจัดหาพนักงานที่มีทักษะในท้องถิ่น สร้างอาชีพ และร่วมทำกิจกรรมการกุศล เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในอาเซียน เราตระหนักดีว่าหน้าที่ของผู้นำอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความเป็นเลิศในการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบทางสังคม และส่งเสริมธรรมาภิบาลด้วย”

กลุ่มไทยเบฟได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาผสานเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2583 โดยไทยเบฟได้พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการ ซึ่งในปี 2566 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้

  • บรรลุระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งของกลุ่มในประเทศไทย เมียนมา และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
  • ขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรแทนแหล่งพลังงานเดิมได้ร้อยละ 37 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 61.6 กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่รวมเวียดนาม)
  • เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ร้อยละ 97 ของจำนวนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล
  • มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73

กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของไทยเบฟที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไทยเบฟประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล

นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า “ไทยเบฟมุ่งมั่นเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน และก้าวสู่การเป็นผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความพึงพอใจในสายอาชีพและโอกาสก้าวหน้าของพนักงานจะเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานร่วมงานกับองค์กรได้ในระยะยาว และตระหนักดีว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือกับพนักงาน ดังนั้น เราจึงเปิดพื้นที่ให้พนักงานพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าเทียมและไร้ขีดจำกัด  เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้และการเติบโต พร้อมทั้งมอบโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ ตลอดจนปิดช่องว่างด้านทักษะต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับองค์กร”

 

PASSION 2030ThaiBevไทยเบฟไทยเบฟเวอเรจ
Comments (0)
Add Comment