“นายฮ้อย-ล่ามทรง” แบรนด์แอมบาสเดอร์คู่แรกแห่ง LINE MAN

เรื่องราวของคู่หูจอมรีวิวที่ฉีกทุกกฎของแบรนด์แอมบาสเดอร์วงการฟู้ดเดลิเวอรีในไทย สู่การเป็นฟู้ดฮีโร่คู่แรกของ LINE MAN ที่คนธรรมดาก็เป็นฮีโร่ได้

นายฮ้อย-ล่ามทรง เป็นใคร

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักสองนักรีวิวอาหารที่มาพร้อมกับคาแรคเตอร์หน้านิ่ง มาดขรึม นายฮ้อย ซาลาห์ A.K.A. นายฮ้อยชวนชิมกับล่ามทรงคู่หูคู่ใจ ที่เคยฝากผลงานการรีวิวอาหารสุดแหวกแนวจนกลายเป็นคลิปไวรัลมาแล้ว สำหรับ นายฮ้อย-ล่ามทรง เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานของ Wongnai ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ด้วยความที่ทั้งสองคนมีหน้าตา และคาแรคเตอร์ที่ไม่เหมือนใคร เวลาอยู่ด้วยกันจึงมีรังสีและเคมีที่เข้ากันแบบสุดๆ ทีมงานเลยจุดประกายความคิดที่จะ ดึงทั้งสองคนขึ้นมาเป็น “เซเลปคู่หูจอมรีวิว” ซึ่งต้องผ่านการทำการบ้านกันอย่างหนักเพื่อสร้างผลงานให้ทัชใจผู้ชม มากที่สุด

กำเนิด นายฮ้อย-ล่ามทรง “เซเลปคู่หูจอมรีวิว”

นายฮ้อย-ล่ามทรง คือการสร้างแบรนด์อย่างแท้จริงที่ชูความเป็นไทย หยิบความเป็น Local ขึ้นมาเล่น และสร้างมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่นและไม่มีใครเคยทำ ซึ่งปกติแบรนด์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้คนหล่อๆ สวยๆ มาทำรีวิว แต่ในตลาดมีค่อนข้างเยอะแล้ว จึงขอสวนกระแสด้วยการขายคาแรคเตอร์ของทั้งสองคน แน่นอนว่าช่วงแรกความอิมเเพค ยังไม่เกิด เเต่ก็สามารถสร้างภาพจำได้ดีมาก ผ่านการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น สไตล์ และกลิ่นอายต่างๆ รวมทั้งชื่อเรียกจึงต้องมีความเป็น Local บ้านๆ

ซึ่งคำว่า “นายฮ้อย” ในภาษาอีสานเอาไว้เรียกคนที่มีความเชี่ยวชาญเหมือนคาวบอย เป็นกูรูด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายคือการปั้นให้เขาเป็นกูรูในด้านอาหาร เป็นตัวจริง แห่งวงการอาหาร โดยคาแรคเตอร์ของนายฮ้อยที่เป็นซิกเนเจอร์คือ มาดนิ่ง ขรึม และที่สำคัญ “ไม่พูด” ใช้เพียงสีหน้า และการกระทำแสดงแทนคำพูด ส่วน “ล่ามทรง” ในคลิปแรกที่ปล่อยไปตอนนั้นยังไม่มีชื่อ แต่กระแสข่าวในช่วงนั้น พูดถึงคำว่า “ล่ามทรง” ออกมา อีกทั้งเขาคือล่ามทรงที่สื่อสารแทนนายฮ้อย ชื่อนี้เลยกลายเป็นชื่อเรียกเขาไปเลย

อะไรคือเสน่ห์ของนายฮ้อย-ล่ามทรง

“ความเฟรนด์ลี่ เข้าถึงง่าย ผสมกับความบ้านๆ ที่ไม่ต้องประดิษฐ์อะไรเลย ที่สำคัญคือความเพี้ยน ความกล้า ที่จะทำ จุดนี้แหละคือเสน่ห์ที่ไปทัชใจผู้ชมส่วนใหญ่”

ซิกเนเจอร์ของนายฮ้อยและล่ามทรง

“Very Good” คำฮิตติดปาก ที่เกิดเป็นกระเเส เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกบทนอกแผน ซึ่งมาจากการที่โปรดิวเซอร์ ต้องการให้ ล่ามทรงช่วยหันมาพูดอะไรก็ได้ที่ให้คนดูรู้สึกว่ามันอร่อยมาก ล่ามทรงก็หันมาพูดว่า “Very Good” เป็นคำง่ายๆ ที่ความหมายจบในตัวเลย แล้วสิ่งนี้ถูกนำมาใช้ตลอด 2-3 ปี ส่วนการตบโต๊ะของนายฮ้อย ตอนแรกที่ลอง ตั้งใจว่าจะให้ดูสนุก ขำๆ แต่กลายเป็นว่าคนชอบ แรกๆ ที่ตบโต๊ะเขาก็เขิน ช่างกล้องก็เกร็ง นายฮ้อยก็เกร็ง แต่ก็รู้สึกว่า มันก็กลายเป็นลายเซ็นต์ของพวกเขาไปแล้ว ถ้าย้อนกลับไปตอนที่คนยังไม่รู้จัก ก็รู้สึกว่าใช้ความเพี้ยนระดับนึง อย่างในโฆษณาจากแคมเปญ LINE MAN Food Hero ก็จะเห็นว่าเราเอาลายเซ็นต์และคาแรคเตอร์ของพวกเขา เข้าไปสอดแทรกในหนังโฆษณาด้วย มันคือภาพจำที่คนดูต้องร้อง อ๋อ!

หมัดเด็ดของ LINE MAN: นายฮ้อย-ล่ามทรงกับการก้าวขึ้นสู่ฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์คู่แรกของ LINE MAN

เป็นการก้าวสู่การเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของคนธรรมดาที่พวกเขาเห็นว่าเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ นับเป็นอีก บทพิสูจน์สำคัญของเส้นทางนักรีวิวอาหารอย่าง “นายฮ้อย-ล่ามทรง” ในฐานะที่พวกเขาเป็นนักกินตัวจริง Eating Master ตัวจริงแห่งวงการอาหาร เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่มาช่วยเติมเต็มให้กับแบรนด์มากยิ่งขึ้น สามารถสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ได้ ถ้านึกถึงนายฮ้อย-ล่ามทรง ก็จะคิดถึง LINE MAN

สุดท้าย นายฮ้อย-ล่ามทรง ฝากประโยคเด็ดถึงคนไทย

เวลามีคนถามว่าทำไมเขาไม่พูด เขาบอกว่า “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” แน่นอนว่าความธรรมดา ความเป็นตัวจริงในสิ่งที่ทำ และคาแรคเตอร์ที่แตกต่างเป็นสูตรการสร้างตัวตน ของนายฮ้อย-ล่ามทรงจนกลายเป็นเซเลบนักรีวิวมืออาชีพ ที่ก้าวสู่การเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ LINE MAN ได้อย่างเต็มตัว นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้าง Personal Branding ให้กับเหล่า Influencer หรือ Youtuber ที่ไม่ควรมองข้าม แต่ในอนาคต นายฮ้อย-ล่ามทรง จะมีไม้เด็ดอะไรมามัดใจคนดูก็คงต้องติดตามชมกันต่อไป