ขยะติดเชื้อ อีกหนึ่งความใส่ใจไม่ใช่แค่ “ทิ้ง” หมอฯ แนะ “แยกขยะก่อนทิ้ง” วิธีการง่ายๆ ช่วยลดการระบาดโควิด -19
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่เราทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากเรื่องความกังวลในการติดเชื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตามมา คือ เรื่องของปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2563 รายงานไว้ว่า ประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนมากกว่า 37,000 แห่ง มีจำนวนเตียงประมาณ 140,000 เตียง ซึ่งสถานพยาบาลเหล่านี้ มีการผลิตขยะติดเชื้อประมาณ 65 ตัน ต่อวันเป็นขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 20 ตันต่อวัน ที่เหลือเกิดขึ้นในสถานพยาบาล ในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตันต่อวัน โดยคาดการณ์ว่าจากสถานการณ์โควิด -19 จะส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อ จะเพิ่มขึ้นอีก 20 ตันต่อวัน ทั้งจากโรงพยาบาล และภาคครัวเรือน รวมถึงโรงพยาบาลสนาม
ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ผู้ผลิตถุงขยะฮีโร่ โดยบริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ไม่รอช้าที่จะลงมาบริจาคถุงขยะ ถุงแดง และถุงซิป ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ ภายใต้โครงการ “ฮีโร่มาแล้ว” เพื่อช่วยให้แต่ละโรงพยาบาลได้ลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการป้องกันการกระจายของเชื้อโรคอีกด้วย
นายทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล กรรมการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ผู้นำนวัตกรรมด้านการผลิตและ จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชั้นนำระดับโลก ภายใต้แบรนด์ “ฮีโร่” (HERO) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ขยายวงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ เรามุ่งความช่วยเหลือไปที่โรงพยาบาลก่อน เพราะโรงพยาบาลคือที่พึ่งของผู้ป่วย เราได้ส่งทีมงานลงพื้นที่พูดคุยกับบรรดาบุคลากรทางการแพทย์หลายๆ โรงพยาบาล พบว่าปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เช่น โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 3.2 ตันในเวลาแค่เพียงครึ่งปี ในขณะที่ รพ.สนามของ รพ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 423 กิโลกรัมต่อวัน และ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 600 กิโลกรัมต่อวัน เราหวังว่าถุงขยะที่นำมาบริจาคนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรงพยาบาลได้จัดการขยะได้อย่างไร้กังวล และช่วยลดการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง”
การลงพื้นที่ไปบริจาคถุงขยะกับทั้ง 3 โรงพยาบาลพบว่าจุดร่วมเดียวกัน คือ ปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องทุ่มเทการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว แต่ทุกโรงพยาบาลล้วนให้ความสำคัญกับการแยกขยะ และการกำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคออกไป โดยนายแพทย์สุเทพ จันทรเมธีกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี กล่าวว่า ขยะติดเชื้อของทางโรงพยาบาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 โรงพยาบาลมีปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 4.2 ตัน จากปริมาณขยะทั้งหมด 7.7 ตัน และในปี 2563 ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.36 ตันต่อปี จากปริมาณขยะทั้งหมด 8.36 ตัน สำหรับตัวเลขล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 3.2 ตันต่อปี ส่งผลให้โรงพยาบาลมีความต้องการใช้ถุงขยะแดงจำนวนมาก โดยในปี 2563 โรงพยาบาลมีปริมาณการใช้ถุงขยะแดงสูงถึงกว่า 3.9 ตัน
“ถุงขยะถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นถุงขยะทั่วไป หรือถุงแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงขยะแดง เพราะโรงพยาบาลมีขยะติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุด PPE หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งขยะติดเชื้อหากไม่ได้จัดเก็บอย่างถูกวิธีก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดำเนินการจัดการกำจัดขยะ ซึ่งเมื่อแยกขยะติดเชื้อออกแล้ว ก็จะนำไปกำจัดทิ้งโดยวิธีการเผาด้วยความร้อน 1,200 องศาเซลเซียส”
ทางด้านแพทย์หญิงอนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พื้นที่ที่มีการติดเชื้อกลุ่มใหญ่ล่าสุด กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ป่วยโควิด -19 ที่โรงพยาบาลรับตอนนี้มีทั้งหมด 245 เตียง โดยรักษาตัวอยู่ที่ ชะอำ-อีโค่ แคมป์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาล จากจำนวนผู้ป่วยส่งผลให้มีขยะทางการแพทย์ 423 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากก่อนช่วงมีวิกฤติโควิด -19 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยขยะติดเชื้อทั้งหมดจะดำเนินการแยกใส่ถุงขยะแดง ส่วนถุงซิปจะนำมาจัดเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อลดการสัมผัสการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง การแยกขยะจะช่วยลดการปนเปื้อนในส่วนของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับ นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่มองว่าการปลูกฝังให้บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานในโรงพยาบาลสร้างวินัยการแยกขยะ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดีที่สุด โดยเฉพาะขยะอันตรายจากเคมีบำบัด ที่ส่งผลต่อสุขภาพและอันตรายต่อทีมแพทย์มากที่สุด ได้แก่ ถ่าน และปรอท โดยการอบรมของเราจะเข้มงวดเป็นพิเศษ พนักงานใหม่ต้องเข้าร่วมปฐมนิเทศในการคัดแยกขยะหลักๆ ได้แก่ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะมีพิษ ขยะรีไซเคิล โดยทีมควบคุมโรค และทีมสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการ
“ณ ตอนนี้ รพ.บ้านแพ้ว ดูแลผู้ป่วยโควิด -19 อยู่ที่ 42 คน ช่วงโควิดปริมาณขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ขยะติดเชื้อจากเดิม 360 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 600 กิโลกรัมต่อวัน ขยะทั่วไป 1,200 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 1,371 กิโลกรัมต่อวัน ผลมาจากช่วงโควิด-19 เรามีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว รวมถึงมีขยะติดเชื้อค่อนข้างมาก และเพื่อป้องกันการติดเชื้อทีมเจ้าหน้าที่เรา เราจึงเข้มงวดกับแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ขนย้ายขยะติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง ประกอบด้วย สวมหมวก สวมผ้าปิดปาก ปิดจมูก สวมเอี๊ยมพลาสติกกันเปื้อน สวมถุงมือแม่บ้านยาวครึ่งแขน สวมรองเท้าบูทครึ่งน่อง ก่อนการทำงานอย่างเคร่งครัด”
จากทุกความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ต่างให้ความเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน คือ การแยกขยะให้ถูกวิธี จะช่วยให้การจัดการขยะรวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพียงแค่เลือกถุงขยะที่บ่งบอกถึงขยะภายถุงนั้น เพื่อให้ผู้ที่นำขยะไปกำจัดต่อ จะสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของชุมชน สังคม โดยรวม
โครงการ “ฮีโร่มาแล้ว” เป็นโครงการเพื่อสังคม โดยบริษัท คิงส์แพค อินดัสเตรียล จำกัด และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ของคิงส์แพ็ค โดยในครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านใบ ได้แก่ ถุงขยะดำ สำหรับขยะทั่วไป ถุงขยะแดง สำหรับขยะติดเชื้อ และถุงซิปเอนกประสงค์ ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการทั่วประเทศ รวมถึงส่งเสริมกระตุ้นให้คนไทยได้มีความรู้เรื่อง “ขยะ” การแยกขยะ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่จะสร้างที่สุขภาวะที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสุขนิสัยที่ดีขึ้น