ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง มุ่งสู่ Net-Zero ชู ESG ขับเคลื่อนแก้วิกฤตโลกรวน ชี้มีผลกระทบรอบด้าน ย้ำต้องลงมือทำทันที สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
โลกกำลังเผชิญความท้าทายกับวิกฤตซ้ำซ้อนและใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกรวน สังคมเหลื่อมล้ำ และปัญหาอีกมากมายที่จะตามมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ถึงเวลาที่ทุกคนต้องรวมพลัง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ ครั้งแรกในประเทศไทยที่ภาคเอกชน ภาครัฐ ประชาสังคม และพันธมิตรระดับโลก ผนึกความร่วมมือด้าน ESG ในงาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability มุ่งเร่งแก้วิกฤตซ้ำซ้อน
ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ชู ESG ขับเคลื่อนแก้วิกฤต นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่กำลังก่อตัวอยู่คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งวิกฤตที่ซ้ำซ้อนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เพราะเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้เห็นความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ข้ามอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานด้วยเพื่อหาทางออก ซึ่งอาจยังไม่พอ การจัดงาน ESG Symposium 2022 จึงเป็นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน รวมถึงคนรุ่นใหม่เข้ามานำเสนอความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเพิ่มพื้นที่ให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสังคม เพื่อทำให้โลกมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของการจัดงานครั้งนี้
“วิกฤตที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นวิกฤตใหญ่ที่สำคัญและเร่งด่วน ต้องการความร่วมมือ ระดมความคิด และลงมือทำอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนั้น การแก้ไขวิกฤติจึงไม่ใช่การทำแบบเดิม ๆ แต่คือการปฏิวัติปรับเปลี่ยน (Evolution) อย่างฉับพลันแบบวิถีใหม่ (Disruption) ผนึกพลังความร่วมมือ (Power of Collaboration) ของทุกภาคส่วนในระบบนิเวศ (Ecosystem) โดยใช้ ESG เป็นตัวขับเคลื่อน (ESG Pathway) ที่สำคัญในปีนี้ ESG Symposium 2022 จะเป็นเวทีของการลงมือทำ เพราะความร่วมมืออย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายการกู้โลกได้” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
อาเซียนเร่งปรับตัว ชี้กระทบรอบด้านทั้งสิ่งแวดล้อม–เศรษฐกิจและสังคม
ดาโตะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Towards a resilient ASEAN Community” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทุกประเทศจึงต้องร่วมกันหาความสมดุลเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องผนึกกำลังกัน โดยเฉพาะภาคเอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ภายใต้วิสัยทัศน์ของอาเซียน 2025 ได้เน้นย้ำเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย และเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดการเกิดของเสีย สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2565 จะพุ่งเป้าไปที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงสุด รวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ การเกษตร พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนที่ก้าวหน้าที่สุด และจะขยายผลสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งปัจจุบันผู้ผลิตทั่วโลกพากันลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจแข่งขันได้ ดังนั้น การเร่งเปลี่ยนกิจกรรมไปทำเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเศรษฐกิจด้วยที่อยู่บนความเสี่ยง
ด้าน ปีเตอร์ เบกเกอร์ ประธานและซีอีโอ สภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSE) กล่าวว่า ESG Symposium 2022 ถือเป็นพื้นที่ให้ผู้นำระดับโลกมาแบ่งปันแนวทางการทำให้ ESG เป็นไปได้จริง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกให้กับสังคม โดยหลังโควิด-19 โลกเผชิญกับความไม่มั่นคงหลายเรื่อง จึงรอช้าไม่ได้จำเป็นต้องเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ อย่างไรก็ตาม ในความท้าทาย ยังมีโอกาสที่แฝงอยู่ด้วย หากสามารถปฏิรูปวิธีการผลิต วิธีการสร้างมูลค่า ลดใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูง การใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น และเพื่อการปฏิรูปอย่างก้าวกระโดด ภาคธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันจึงจะสามารถเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้
ความยั่งยืน โอกาสในการลงทุนและช่วยจัดการความเสี่ยง
ขณะที่ บอนนี่ หลุน ผู้อำนวยการ BlackRock Sustainable Investing ระบุว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ ที่ช่วยจัดการความเสี่ยงและเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน โดยหลายปีที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ปัญหาซัพพลายเชน รวมทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น กดดันต่อเงินเฟ้อ ผู้คนต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ยกระดับความซับซ้อนในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมากขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียค่อนข้างมาก จึงมีความพยายามสร้างพันธมิตรและการลงทุน เพื่อการก้าวสู่ Net-Zero อย่างมาก
ด้าน อลิสเบธ เบรนตัน รองประธานด้านความยั่งยืน (Sustainability) ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นความท้าทายระดับโลก ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์จะเป็นตัวชี้วัดอนาคตของโลก ตอนนี้ถึงเวลาที่คนบนโลกต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อไม่เพียงให้มีชีวิตรอด แต่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะสร้างการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและทันสมัยในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ มีการนำพันธกิจด้าน ESG ไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและเพิ่มคุณค่าของ Value Chain โดยมองว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นโอกาสไม่ใช่ความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับพันธมิตรผลักดันให้ทุกภาคส่วนช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สู่เป้าหมาย Net–Zero ต้องลงมือทำ
Thomas Guillot Chief Execusive of the Global Cement and Concrete Association (GCCA) ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญในอนาคตคือ เรื่องการลดคาร์บอน ซึ่งจะเป็นจริงได้ ต้องมีพันธสัญญาและลงมือทำ โดย GCCA ร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง มีหลายขั้นตอนที่นำมาใช้ ทั้งการประหยัด การใช้แบบหมุนเวียน และการใช้นวัตกรรม และหากมองในเชิงธุรกิจแล้ว ทั้งหมดนี้มีโอกาสรออยู่ เช่น การรีไซเคิลคอนกรีต การนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ที่ล้วนเป็นโอกาสทางการตลาดสามารถเพิ่มพูนการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการไปสู่เป้าหมาย Net-Zero คือ ลงมือทำ
เสียงจากคนรุ่นใหม่ “อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์” เยาวชนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม UN Youth for Climate สะท้อนว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงมากเกี่ยวกับภัยทางภูมิอากาศ และหลายคนยังเพิกเฉยกับปัญหานี้ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังหนึ่งในการขับเคลื่อน ESG ที่สำคัญการจะไปถึง Net-Zero คนรุ่นใหม่มีพลังและความทะเยอทะยานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการเล่าเรื่องและการใช้นวัตกรรมทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การเมือง แต่เราต้องทำให้เป็นนโยบายการเมืองระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหา และสุดท้ายวิทยาศาสตร์จะทำให้แนวทางของเราเป็นไปอย่างชัดเจน ด้วยการลงมือทำ ซึ่งที่ผ่านมาเรามักเลือกเบี่ยงเบนและปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ เราไม่จำเป็นต้องปฏิวัติ แค่ต้องฟื้นฟูความรู้ใหม่ เราไม่จำเป็นต้องสร้างโลกใหม่ แค่หยิบใช้เครื่องไม้เครื่องมือและใช้พลังในมือของเรา” อมินตา กล่าว
ปิดท้ายที่ เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ CEO of Vulcan Coalition สตาร์ทอัพที่ใช้ ESG ในการขับเคลื่อนธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มของ Vulcan สามารถสร้างโอกาสการทำงานให้กับคนด้อยโอกาสและผู้พิการได้กว่า 600 งาน สร้างคุณค่าได้ถึง 60 ล้านบาท ทำให้หลายคนมีชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นและภูมิใจในตัวเอง รวมทั้งสร้างผลประโยชน์ให้สังคมได้ในฐานะผู้จ่ายภาษี ซึ่งความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งจากองค์กรพัฒนาสังคม และบริษัทชั้นนำในประเทศไทย ดังนั้น หากสตาร์ทอัพร่วมมือกับรัฐบาลและภาคส่วนอื่น ๆ เชื่อว่าจะสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้