เลขาธิการ คปภ. กำหนดเข็มทิศ 9 มาตรการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยปี 2566
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยถึงทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยปี 2566 ในงาน Press Conference : Strategic Themes and Trends of Insurance Supervision in 2023 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ณ เดอะทรี ริเวอร์ไซต์ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 สำนักงาน คปภ. จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คือ การเสริมเกราะป้องกัน หรือ Resilience ให้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 9 มาตรการหลัก ดังนี้
มาตรการที่ 1 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนอง
ต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที มีฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็งเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้ให้บริษัทประกันภัยจัดทำประมาณการความเพียงพอของเงินกองทุน ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยไปจนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการและกำหนดแผนการรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS17) เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาการเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการสำหรับงวดบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยและได้สื่อสารให้บริษัทประกันภัยทราบเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดทำร่างประกาศเกี่ยวกับแบบงบการเงินเพื่อรองรับมาตรฐาน IFRS17 คณะกรรมการ คปภ. ได้เห็นชอบร่างประกาศ คปภ. ที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS17 จำนวน 6 ฉบับ แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยในปี 2566 สำนักงาน คปภ. มีแผนที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการยื่นงบการเงิน รวมทั้งรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย (รายงาน XML) รูปแบบใหม่อีกด้วย
มาตรการที่ 2 ปรับปรุงกฎกติกาหรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นให้เป็น Principle-based มากขึ้น เพิ่มเติมมาตรการและแนวทางให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว และปรับพอร์ตการรับประกันภัยให้มีความสมดุล พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยไปอีกขั้นให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ และสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในมิติของการกำกับดูแลเชิงมหภาค โดยเพิ่มน้ำหนักในการติดตาม ประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ด้วยการทำ Stress Test และ Scenario Analysis เพื่อให้ระบุจุดเปราะบาง ดักจับความเสี่ยง กำหนดแนวทางป้องกัน และลดผลกระทบต่าง ๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น
มาตรการที่ 3 ยกระดับกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการถอดบทเรียนจากประกันโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ โดยเพิ่มบทบาทนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และคณะกรรมการย่อย เช่น Product Governance Committee และ Risk Management Committee ในส่วนของทิศทางการกำกับดูแลต่อไป สำนักงาน คปภ. จะยกระดับการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและมีความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจะอัพเกรด Insurance Regulatory Sandbox (IRS) และ โครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox (TMS) สู่ New Version คือ Smart Sandbox ซึ่งจะเป็นการศึกษาผลการดำเนินงานและผลตอบรับของโครงการ IRS และ TMS เพื่อนำมาวิเคราะห์ พัฒนา ปรับปรุง ออกแบบวิธีการประเมินและกำหนดกรอบการประเมินโครงการที่เข้าร่วมทดสอบที่ชัดเจน รวมถึงกฎระเบียบที่จำเป็นต้องให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการดึงดูดภาคธุรกิจให้สมัครเข้าร่วมการทดสอบนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการมอบรางวัล Smart Sandbox of the Year ให้กับบริษัทที่มีแนวคิดที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของประชาชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย และการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แตกต่างจากประกันภัยรถยนต์ในปัจจุบัน โดยได้หารือรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย
มาตรการที่ 4 กระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการดังนี้ มีการศึกษาแนวทางเพื่อกำหนดให้บริษัทประกันภัยมีมาตรฐานกลางในการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการสำคัญ รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และทันเหตุการณ์มากขึ้น และมีการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย ซึ่งในอนาคตจะต่อยอดสู่การจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ (National Insurance Bureau: NIB) มีการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล OIC Gateway ระยะที่ 2 ที่จะขยายผลจาก My Policy สู่ My Portfolio ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ประชาชน สำหรับการวางแผนการเงินและการประกันภัย พร้อมกับเชื่อมโยงบริการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น
ในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาฐานข้อมูลภายใน และนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการวิเคราะห์ และตรวจสอบบริษัทประกันภัย เพื่อยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มบทบาทของศูนย์ CIT ในการขยายเครือข่าย Insurtech ของไทยไปสู่ต่างประเทศ พร้อมกับเชื่อมโยงและดึงดูดให้ Tech firms และ Startups ต่างประเทศที่น่าสนใจ เข้ามาขยายธุรกิจและสร้างพันธมิตรกับธุรกิจไทยมากขึ้น ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งาน Thailand InsurTech Fair ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่ไปกับพัฒนาเครื่องมือในการประเมินระดับความพร้อมของบริษัทประกันภัย (Cyber Resilience Assessment framework: CRAF) พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในธุรกิจ และขยายขอบเขตการวิเคราะห์และตรวจสอบบริษัทประกันภัย ให้ครอบคลุมถึงการประเมินประสิทธิภาพและความพร้อมของบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และ IT risk เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจประกันภัยจะมีความพร้อมรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้
มาตรการที่ 5 ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยจะดำเนินการ ดังนี้
มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และพัฒนาสื่อความรู้ใหม่ ๆ เช่น เกมส์ออนไลน์ และบอร์ดเกมส์ที่มีรูปแบบที่น่าสนใจและให้ประชาชนเรียนรู้โดยการทดลองด้วยตนเองและเข้าใจง่าย รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่น ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะเชื่อมโยงกับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายบทบาทของระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้นและตรงความต้องการ รวมทั้งเร่งยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยต่อยอดระบบสารสนเทศที่ใช้ในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย มาสู่ระบบ E-Arbitration เพื่อใช้ในการบริหารจัดการคดี และสนับสนุนกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนข้อร้องเรียนที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย จนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน และทบทวนการตีความข้อสัญญาต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน จะเป็นการช่วยลดข้อร้องเรียน และสร้างเสริมความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยได้อีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็จะมีการต่อยอดระบบรายงานพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้เชื่อมกับฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ โดยจะนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉล เพื่อให้สามารถดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที และลดโอกาสเกิดการฉ้อฉลประกันภัยในอนาคต อันจะเป็นการดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบประกันภัยให้เติบโตได้อย่างความมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการส่งเสริมให้มีการพัฒนา sustainable insurance products โดยจะหยิบยกหารือในเวทีการประชุม AIRM ในเดือนธันวาคมนี้ด้วย นอกจากนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการ ESG และการส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่คำนึงถึงธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม
มาตรการที่ 6 ขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งผ่านการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงาน คปภ. และได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 โดยมีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 และจะมีการเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับร่าง พ.ร.บ.กลุ่มที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการ และร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเล อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก
มาตรการที่ 7 ส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประกันภัยในยุค New Normal โดยปรับปรุงหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) และหลักสูตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และจะพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมให้มีความเข้มข้นขึ้น ครอบคลุมทุกองค์ความรู้ที่จำเป็น พร้อมกับการขยายพื้นที่ของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงให้สามารถรองรับการจัดอบรมและกิจกรรมการต่าง ๆ ได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น
มาตรการที่ 8 การบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และที่สำคัญที่สุด คือ สื่อมวลชนทุกประเภท เพื่อสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัย เช่น กิจกรรมเพื่อสังคม CSR “ขยายการสื่อสาร ขยายกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัย”
มาตรการที่ 9 การพัฒนาสำนักงาน คปภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็น SMART OIC ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัย สามารถใช้งานระบบ Eco System ในการขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัย โดยขณะนี้ได้เริ่มใช้ระบบดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบ SERFF ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีการใช้ระบบ BIS (Business Investment System) ในการนำส่งข้อมูลเพื่อพิจารณาคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย เช่น การขอวางหรือคืนเงินสำรองประกันภัย การขออนุญาตลงทุน เป็นต้น รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้คนกลางประกันภัยสามารถเริ่มใช้งานระบบ E-Licensing ได้เต็มรูปแบบภายในกลางปี 2566
ในส่วนของภาคประชาชน มีการพัฒนา chatbot คปภ. รอบรู้ ให้สามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น และพัฒนารูปแบบการยืนยันตัวตน การสืบค้นข้อมูลกรมธรรม์ และพัฒนาต่อยอดระบบ PPMS เดิม เพื่อให้บริการภาคประชาชนให้เข้าถึงระบบรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนงานระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ (E – Arbitration) อย่างครบวงจร
ในส่วนของสำนักงาน คปภ. มีการนำผลการทบทวนกระบวนการที่สำนักงานได้ดำเนินการแล้ว (Business Process Improvement Roadmap) มาเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมองค์กร เพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยี (Enterprise Architecture) และปรับปรุงกระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานภายในสำนักงานอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการทำงานและทบทวนบทบาทหน้าที่ภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนากระบวนการการบริหารความเสี่ยงในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ในด้านอื่น ๆ เช่น กระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อให้ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อยอดระบบ fraud detection ให้สามารถตรวจจับเคสผิดปกติได้ ตลอดจนจัดทำ Intelligence Dashboard โดยใช้ข้อมูลจาก IBS และระบบงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น PPMS เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
“ผมเชื่อมั่นว่าทั้ง 9 มาตรการที่สำนักงานคปภ.กำหนดไว้เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในปี 2566 จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ และส่งผลทำให้ธุรกิจประกันภัยเข้าไปนั่งอยู่ในใจประชาชน โดยสามารถนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย