โครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ระยะที่ 4 เดินหน้าสร้างองค์ความรู้ ชูศาสตร์พระราชาสู้ทุกวิกฤตยุคนิว นอร์มอล
การจัดการพื้นที่การเกษตรแบบโคก หนอง นา โมเดล บริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวทางศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ช่วยให้เกษตรกรที่ลงมือปฏิบัติสามารถรับมือกับวิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้ลงมือทำด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป มาวันนี้ที่โลกของเรารวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหม่ นั่นคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวสู่วิถีชีวิตแบบ ‘นิว นอร์มอล’ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและนำแนวทางโคก หนอง นา โมเดลมาปฏิบัติ จึงเป็นสิ่งที่โครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ระยะที่ 4 เดินหน้าดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ตลอดจนมีทักษะและองค์ความรู้ในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต
เชฟรอนสานต่อ “โครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ระยะที่ 4
“โครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย และพระนครศรีอยุธยา ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ มุ่งเน้นไปที่การสร้างศูนย์เรียนรู้ การพัฒนาคู่มือและตำรา การสร้าง ‘ครูพาทำ’ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนการอบรมผู้สนใจเพื่อสร้าง “คนมีใจ” ที่จะนำศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติและเผยแพร่องค์ความรู้นี้ออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ยกระดับการพัฒนาชีวิตและชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ระยะที่ 4 จะดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 ภายใต้งบประมาณ 10,001,500 บาท จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้สนับสนุนโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดเจ็ดปีของการดำเนินโครงการ ได้ก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการจัดการน้ำที่ขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบกว่า 300 แห่ง และจำนวนศูนย์เรียนรู้ 30 แห่ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 80,000 คนจากทั่วประเทศ เชฟรอนจึงยินดีสนับสนุนงบประมาณอีกกว่า 10 ล้านบาทสำหรับการดำเนินโครงการในระยะที่ 4 เพื่อสานต่อและขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ อย่างยั่งยืน รวมสนับสนุนงบประมาณแล้วทั้งสิ้นเกือบ 46 ล้านบาท”
“นอกจากนั้น เชฟรอนยังได้ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน อย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 9 ในปีนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรและดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสตร์พระราชาแก่สาธารณชนในวงกว้าง ผ่านกิจกรรมรณรงค์และการผลิตสื่อความรู้ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จากทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติในวงกว้าง อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทยทุกคนในอนาคต”
ยกระดับการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ทางรอดยุคนิวนอร์มอลอย่างยั่งยืน
ในวันนี้ที่คนไทยและเกษตรกรทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งในด้านสุขภาพพลานามัย การดำเนินชีวิต และรายได้จากการประกอบอาชีพที่ลดลง การเผยแพร่ศาสตร์พระราชายิ่งทวีความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสตร์พระราชา
นายไตรภพ โคตรวงษา หรือ อาจารย์เข้ม ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้กล่าวว่า “อาหารคือปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต การที่เหล่าเกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พวกเขาจำเป็นต้องมีแหล่งสร้างอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมไว้สำหรับวิกฤตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการทำโคก หนอง นา ได้ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วว่าคือทางรอดที่ทำให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นได้ทุกวิกฤต มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกครัวเรือนที่นำเอาองค์ความรู้จากศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่วิกฤตที่ทุกคนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งก็คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากมีการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ของตนเองอย่างเป็นระบบ พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยวิถีชีวิตแบบพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ทั้งยังสามารถแบ่งปันความช่วยเหลือไปให้กับผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย”
“ยิ่งเรามีตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ มีเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเองในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น เราก็จะยิ่งมีเกษตรกรหรือคนที่เคยประกอบอาชีพหันมาสนใจตามรอยศาสตร์พระราชาเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือการเร่งพัฒนาคนให้มีความรู้และสามารถนำไปถ่ายทอดส่งต่อให้กับคนที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ รวมถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการในโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ระยะที่ 4 เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันวิกฤต เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยการพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคงและราบรื่น ก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ”
ยืนได้อย่างมั่นคง ส่งต่อองค์ความรู้สู่ทางรอดไปด้วยกัน
ที่ผ่านมา โครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “คนมีใจ” ที่นำแนวทางโคก หนอง นาโมเดล ไปปรับใช้บนพื้นที่ของตนจนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นพื้นที่ต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนได้มาเรียนรู้ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สนใจในชุมชน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาอย่างไม่รู้จบ
นางปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ “สวนฝันสานสุข” บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยประกอบอาชีพพยาบาล และพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการใช้สารเคมีในการทำเกษตร รวมถึงการบริโภคพืชผักที่ปนเปื้อน จึงเริ่มมองหาหนทางในการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีจากพื้นฐาน จึงได้เข้าร่วมการฝึกอบรมกับโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน หลักการสำคัญก็คือการปลูกป่า 5 ระดับ และการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผักสำหรับบริโภคในครัวเรือน โดยไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ซึ่งดิฉันได้ลงมือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้ที่ดิฉันสามารถพูดได้แล้วว่า ดิฉันสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะมีวิกฤตไหนผ่านเข้ามาอีกก็ตาม นอกเหนือจากนี้ พืชผลที่ดิฉันได้ลงมือเพาะปลูกด้วยตัวเอง ได้แก่ กล้วย มะละกอ ข่า ตะไคร้ มะกรูด นั้นคือตัวแทนของความภาคภูมิใจ ยิ่งไปกว่านั้น ดิฉันยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังชาวบ้านที่ใกล้เคียง ทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี จากการบริโภคพืชผลที่ปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยังนำมาซึ่งแนวทางการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนในยุคนี้อีกด้วยค่ะ”
ส่วนทางด้าน นายอุดม อุทะเสน ผู้ใหญ่บ้านทุ่งเทิง หมู่ที่ 11 จ.เลย ก็ได้กล่าวว่า “หลายปีก่อนหน้านี้ ผมตัดสินใจหยุดทำไร่ข้าวโพดที่สืบทอดกันมาในครอบครัวเพราะหนี้สินที่พอกพูน และไปเข้ารับการฝึกอบรมจากโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ แล้วกลับมาลงมือทำในพื้นที่ของตนเอง ตามหลักการทำโคก หนอง นา โมเดล จนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ และที่น่าภูมิใจคือชาวบ้านในพื้นที่เกิดความสนใจ เข้ารับการฝึกอบรมกับโครงการฯ และนำแนวทางศาสตร์พระราชาไปลงมือทำในพื้นที่ของพวกเขาได้อีกด้วย นอกจากนี้ การเข้ารับการฝึกอบรมจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติยังทำให้ชาวบ้านทุกคนเลิกเผาฟางที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะฟางเหล่านี้สามารถนำไปรักษาความชื้นในดินเพื่อทำเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงดูตัวเองได้ จึงอยากขอให้ชาวเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ เลิกเผาฟางและเข้ารับการอบรมจากโครงการเพื่อนำองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นไปด้วยกัน”