“บีเจซี” เผยไตรมาสแรก ปี 64 กำไร 1.01 พันลบ.

“บีเจซี” เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 64 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,013 ล้านบาท ลดลง 20.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 และระลอกใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม แต่ยังเห็นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค ทั้งจากยอดขายจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจเทคนิค อีกทั้งอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัทในไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ควบคุมได้เป็นอย่างดีจากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยลดลงกว่า 15% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสุจิตรา วิชยศึกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 35,616 ล้านบาท ลดลง 6,712 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมลดลงจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่ลดลงจากธุรกิจรวม อยู่ที่ 32,520 ล้านบาท ลดลง 5,963 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัทในไตรมาส 1/2564 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์และกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ บริษัทรายงานค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 1/64 ลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 1/64 สาเหตุการลดลงจาก ต้นทุนขายซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง เนื่องจากการควบคุมต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความเหมาะสม

นางสุจิตรา วิชยศึกษ์

ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 1,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค แม้จะยังคงได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าเวชภัณฑ์บางกลุ่มที่ลดลง เช่น ยารักษาโรคจากการติดเชื้อโดยทั่วไป เนื่องจากการรักษาระยะห่างและการรักษาสุขอนามัยของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากยอดขายของร้านขายยาตามห้างสรรพสินค้า ในส่วนของกลุ่มธุรกิจเทคนิค ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดน้อยลงในไตรมาสแรกของปีนี้

ส่วนกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ยอดขายไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 4,571 ล้านบาท ลดลง 467 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวและการค้าข้ามพรมแดน อีกทั้งไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยังเป็นฐานเปรียบเทียบที่สูง แต่อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นของกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว

ด้านยอดขายกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 4,971 ล้านบาท ลดลง 609 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน สาเหตุหลักมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูง เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอุปโภคและกลุ่มธุรกิจต่างประเทศได้ประโยชน์จากการกักตุนสินค้าของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการจำกัดด้านการเดินทาง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/63 ยอดขายลดลงเล็กน้อย 17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 แต่อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ

สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ รายได้รวมในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 24,966 ล้านบาท ลดลง 5,598 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 22,022 ล้านบาท ลดลง 4,947 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากยอดขายต่อสาขาเดิมลดลง อยู่ที่ร้อยละ -21.6 ในไตรมาส 1/64 สาเหตุจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าแบบดั้งเดิมมากขึ้น ขณะเดียวกันรายได้ค่าเช่า ยังคงได้รับผลกระทบจากการให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรก รวมถึงอัตราการเช่าที่ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/64 กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงมุ่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยได้เปิดมินิบิ๊กซี 18 สาขา แต่มีการปิดมินิบิ๊กซี 2 สาขา ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 152 สาขา (บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า) บิ๊กซีมาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต บิ๊กซี ฟู้ดเพลส และบิ๊กซีดีโป้) มินิบิ๊กซี 1,231 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 61 สาขา) และร้านขายยาเพรียว 144 สาขา

กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 1/64 เท่ากับ 1,013 ล้านบาท ลดลง 267 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/63 ลดลง 341 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น